วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคเอดส์แมว

เพื่อน ๆ สมาชิกผู้รักแมวทั้งหลาย พอได้ยินชื่อ โรคเอดส์แมว แล้ว อาจจะตกใจแล้วพาลนึกไปถึงโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นในคนขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วนน่ะนะคะ

จริง ๆ แล้ว โรคเอดส์แมว (Feline immunodeficiency virus; FIV) ที่ว่านี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FIV ในกลุ่ม retrovirus ค่ะ ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลเดียวกับโรคลูคีเมียในแมว และเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ในคนอีกด้วย


แม้ว่าโรค เอดส์แมว จะเป็นโรคติดต่อระหว่างแมวสู่แมวที่ร้ายแรงและสำคัญอีกโรคหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรคเอดส์แมวนี้เป็นโรคที่ติดต่อมาสู่คนแต่อย่างใดนะคะ การติดต่อของโรคนี้มักเกิดขึ้นผ่านการสัมผัสเลือดหรือน้ำลายของแมวป่วย ดังนั้น จึงมักจะพบได้ว่า แมวที่เป็นโรคนี้มักเป็นแมวที่เลี้ยงในระบบเปิดหรือเป็นแมวที่เลี้ยงไว้หลายตัวภายในบ้าน อีกทั้งเป็นแมวที่เป็นตัวผู้มากกว่าตัวเมีย และที่สำคัญมักเป็นแมวที่ไม่ได้ทำหมัน ดังนั้นเมื่อออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน จึงมักจะมีพฤติกรรมกัดกันกับแมวเจ้าถิ่นตัวอื่นเสมอ ๆ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่แมวเราจะติดโรคนี้มาจากนอกบ้าน นอกจากนี้แล้วโรคเอดส์แมวนี้ยังสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำนมและน้ำลายค่ะ แม้แต่การผสมพันธุืก็อาจทำให้แมวติดเชื้อนี้ได้ แม้ว่าจะพบไม่บ่อยนัก

อาการของโรคเอดส์แมวนั้น เมื่อแมวติดเชื้อมาแล้ว บางครั้งก็ยังไม่แสดงอาการอยู่นานเป็นปีหรือหลายปีเลยค่ะ หากแมวยังมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ก็ยังพอต้านทานเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ แต่หากแมวมีภูมิคุ้มกันต่ำลงเมื่อไหร่ แมวก็จะแสดงอาการจากการติดเชื้อต่าง ๆ ทันที โดยเราสามารถที่จะแบ่งการติดเชื้อตามอาการได้สามระยะด้วยกัน ได้แก่

ระยะแรก หรือระยะฉับพลัน เกิดขึ้นหลังติดเชื้อแล้วในช่วง 2-3 วัน ระยะนี้แมวจะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต อาจมีอาการท้องเสียหรือโลหิตจางร่วมด้วย

ระยะที่สอง เรียกว่า ระยะแฝง ระยะนี้แมวจะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นเด่นชัดเหมือนในระยะแรกค่ะ แต่แมวจะมีเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายและสามารถติดต่อไปยังแมวตัวอื่นได้ ซึ่งการป่วยระยะนี้อาจกินเวลานานเป็นปีหรือหลายปีจนกว่าภูมิคุ้มกันของแมวจะลดต่ำลงจนติดเชื้อโรคอื่น ๆ ตามมา

ระยะที่สาม เรียกว่า ระยะเรื้อรัง ระยะนี้เป็นระยะสุดท้ายของแมวค่ะ แมวที่ป่วยจะพบความผิดปกติหลายอย่างด้วยกัน อาทิเช่น น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ขนหยาบ มีไข้เรื้อรัง เบื่ออาหาร เหงือและช่องปากอักเสบ ติดเชื้อที่ผิวหนัง กระเพาะปัสสาวะและทางเดินหายใจ อาจมีอาการทางประสาท ตาอักเสบ และเป็นโรคไต,เนื้องอกร่วมด้วย

การวินิจฉัยและการรักษาแมวที่เป็นโรคเอดส์แมวนั้น ปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสค่ะ และ และเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ไม่มียารักษา จึงทำได้เพียงการรักษาตามอาการและพยายามส่งเสริมให้แมวมีสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้แมวเจ็บป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นน่ะนะคะ

การป้องกันโรคเอดส์แมว วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้ก็คือ การนำแมวของเราไปทำวัคซีนค่ะ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคเอดส์แมวนั้น แม้ว่าจะป้องกันได้ไม่เต็ม 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสที่แมวจะติดโรคนี้ได้ถึง 70% วัคซีนนี้มีข้อเสียก็คือมีราคาที่แพงมาก และไม่ครอบคลุมไวรัสทุกสายพันธุ์ ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทำการฉีดวัคซีนตัวนี้

ส่วนวิธีที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันแมวของเราเป็นโรคเอดส์แมว ก็คือการเลี้ยงแมวในระบบปิดค่ะ เนื่องจากจะเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อมาจากนอกบ้าน รักษาสุขอนามัยของที่อยู่แมวให้ดี และพาแมวไปพบสัตวแพทย์เืพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำตามนัด ก็จะช่วยให้น้องแมวของเรามีอายุยืนยาวปราศจากโรคเอดส์แมวและโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นน่ะนะคะ





เรียบเรียงข้อมูลจาก catinlove.com
ภาพประกอบจาก catster.com/lifestyle/cat-health-9-facts-feline-chronic-kidney-disease

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคพิษสุนัขบ้าในแมว


แม้ว่าจะได้ชื่อว่า โรคพิษสุนัขบ้า แต่โรคนี้ก็เกิดขึ้นใน แมว ได้เช่นกันค่ะ โรคพิษสุนัขบ้านั้นเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Rhabdovirus น่ะนะคะ โดยจะสามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด รวมทั้งสามารถติดเชื้อสู่คนได้ด้วย โรคนี้จึงเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังในระดับที่สูงกว่าโรคอื่น ๆ เพราะนอกจากเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตสัตว์แล้ว ยังเป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์อีกด้วย


อาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นในแมวนั้น สามารถสังเกตอาการได้หลายประการค่ะ โดยจะแบ่งอาการที่สังเกตได้ออกง่าย ๆ เป็นสองแบบด้วยกัน คือแบบคลุ้มคลั่งและแบบอัมพาต โดยอาการในแบบคลุ้มคลั่งนั้น จะมีตั้งแต่อาการซึมผิดปกติ หรือ ตื่นเต้น อาละวาด ตื่นกลัว น้ำลายยืด ม่านตาขยาย กัดแทะตัวเอง กัดสิ่งต่าง ๆ แม้แต่เจ้าของ อาจมีอาการชักให้เห็น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นใน 5 วันแรกและจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หากยังไม่เสียชีวิตก็จะเข้าสู่อาการในระยะที่สอง คือเป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรง ซึ่งในระยะที่สองนี้สัตว์อาจเสียชีวิตภายใน 13 วัน อนึ่งสำหรับอาการดังกล่าวข้างต้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้นทุกอาการนะคะ สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจแสดงอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพียงกลุ่มอาการใดอาการหนึ่ง ซึ่งก็ต้องสังเกตและเฝ้าระวัง

สำหรับในคนนั้น สามารถติดโรคนี้ได้จาการที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรค ข่วน กัด ค่ะ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายจากการน้ำลายของสัตว์ และที่น่ากลัวก็คือโรคนี้สามารถติดต่อได้จากระบบหายใจได้เช่นกัน หากมีปริมาณเชื้อมาก ๆ และอยู่ในพื้นที่คับแคบอับชื้น ไม่มีอากาศถ่ายเท แต่กรณีหลังนี้ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ เมื่อคนได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย เชื้อนี้ก็จะวิ่งเข้าสู่เส้นประสาทและตรงเข้าสู่สมองทำให้ไม่มียาตัวใดสามารถรักษาได้และจะทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งก็คือ โรคนี้สามารถติดต่อสู่คนได้ ก่อนที่อาการของสัตว์จะกำเริบหรือแสดงให้เห็นล่วงหน้าก่อนได้ถึง 10 วัน ดังนั้นจึงเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่น่ากลัวที่สุด หากถูกสัตว์เลี้ยงกัด หรือข่วนก็อย่าชะล่าใจ ให้รีบล้างทำความสะอาดแผลเบื้องต้น ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาตีน ทิงเจอร์ หรือแอลกอฮอร์ และขอให้ไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อฉีดยาป้องกันไว้ก่อน อีกทั้งควรกักบริเวณสัตว์เลี้ยงเพื่อเฝ้าดูหรือสังเกตอาการของโรคอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 วันด้วยน่ะนะคะ

การป้องกันไม่ให้แมวของเราติดโรคนี้ ที่ดีที่สุดก็คือ การทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมที่กำหนด ปีละหนึ่งครั้งค่ะ



     
เรียบเรียงข้อมูลจาก วิกิพีเดีย,jabchai.com/main/view_joke.php?id=2140
ภาพประกอบจาก funnycatsite.com/pictures/Very_Mad_Cat.jpg

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Fip)


โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือที่เรารู้จักในชื่อของโรค FIP (feline infectious peritonitis) ก็คือโรคติดต่อในแมวที่ไม่ติดต่อสู่คนอีกโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสค่ะ

โรคนี้ถือว่าเป็นโรคติดต่อในแมวที่ร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยแมวจะได้รับเชื้อโรคโดยการติดต่อผ่านทางช่องปากและจมูก น้ำลายและอุจจาระของแมวด้วยกันเอง รวมไปถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมและใช้สิ่งของที่มีเชื้อโรคที่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่นอน กระบะทราย ชามอาหารและน้ำ



อาการที่เด่นชัดของโรคนี้โดยทั่วไปมีสองแบบด้วยกันค่ะ คือเป็นอาการแบบเปียกและแบบแห้ง อาการแบบเปียกก็คือ แมวจะเกิดอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย มีไข้ มีน้ำมูก จาม น้ำตาไหล มีอาการอักเสบภายในช่องท้อง หายใจลำบาก (แมวส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการแบบเปียก) ส่วนอาการแบบแห้งนั้นก็คือ แมวจะมีอาการซึม น้ำหนักลด โลหิตจางและมีไข้เนื่องจากไวรัสมีการแบ่งตัวอย่างช้า ๆ และจะทำให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังกับอวัยวะภายใน อาทิ ปอด ไต และระบบประสาทเป็นต้น

การติดต่อของโรคนี้ คงต้องบอกว่าติดต่อได้ง่ายมากค่ะ เพราะสามารถติดต่อได้ทั้งจากตัวแมวเองและสภาพแวดล้อม รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ของแมวที่ใช้ร่วมกัน มักระบาดในสถานที่ที่มีแมวอยู่กันอย่างหนาแน่นและสุขอนามัยของแมวไม่ดี โดยจะติดต่อผ่านการกิน การหายใจ และการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนของอุจจาระของแมวที่มีเชื้อนี้

แนวทางการรักษาเมื่อพบว่าแมวของเรามีอาการของโรคที่น่าจะเข้าข่ายเป็น FIP ก็คือ การรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์ค่ะ และเนื่องจากยังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นโรคที่รักษายากพอสมควร จึงต้องใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ โดยการให้ยาลดการอักเสบและให้ยากดภูมิน่ะนะคะ

การป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว ที่สำคัญที่สุดก็คือ การพาแมวของเราไปทำวัคซีน รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยแมว และการเลี้ยงแมวระบบปิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แมวของเราไปติดเชื้อโรคนี้มาจากนอกบ้าน และกลาเป็นพาหะนำโรคติดต่อมาสู่แมวตัวอื่น ๆ ภายในครอบครัวของเราอีกด้วยค่ะ



เรียบเรียงข้อมูลจาก rayongvetclinic.wordpress.com,แมวไทย.คอม
ภาพประกอบจาก lijiun.files.wordpress.com/2012/01/p1020802.jpg

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคมะเร็งเม็ดเลือดแมว (ลูคีเมียแมว)


โรคติดต่อที่ร้ายแรง ติดง่าย แต่จะติดต่อเฉพาะแมวสู่แมว ไม่ติดต่อสู่คนอีกโรคนั้น ก็คือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ โรคลูคีเมียแมว นั่นเองน่ะนะคะ

โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า  Feline Leukemia Virus (FeLV) ค่ะ โดยเชื้อไวรัสนี้จะไปกดภูมคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดอาการของโรคได้หลายอย่าง อาทิเช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เนื้องอกหรือมะเร็งประเภทต่าง ๆ หากมีการติดเชื้อของแมวตัวใดตัวหนึ่งแล้ว ก็จะสามารถแพร่กระจายไปสู่แมวที่อาศัยหรือคลุกคลีอยู่ในสถานที่หรือบ้านเดียวกัน เนื่องจากไวรัสนี้สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่งต่าง ๆ ได้แก่ น้ำลาย ขี้ตา เลือด นอกจากนั้นในแมวที่ท้องอยู่ก็ยังสามารถส่งต่อเชื้อโรคไปยังลูกแมวผ่านรกและน้ำนมได้อีกด้วย


ลักษณะอาการของโรคที่ต้องสงสัยว่าเป็นลูคีเมียแมวได้แก่ แมวของเราจะเริ่มน้ำหนักลด มีไข้ มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวม โลหิตจาง เจ็บเหงือกและปากเนื่องจากปากเปื่อยเป็นแผล ติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เม็ดเลือดขาวต่ำ อุจจาระร่วง เป็นต้น ซึ่งเมื่อพบว่าแมวของเรามีอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ขอให้รีบนำแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาตามอาการอย่างเร่งด่วน ซึ่งแม้ว่าจะไม่มียาที่รักษาโรคนี้โดยตรง แต่แพทย์ก็จะให้ยาตามอาการ เพื่อประคับประคองและยืดอายุแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ออกไปน่ะนะคะ

การป้องกันโรคลูคีเมียแมว ที่ดีที่สุด ก็คือการนำแมวของเราไปทำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ โดยแมวที่สามารถทำวัคซีนได้จะต้องมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป (ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน) และทำการกระตุ้นวัคซีนทุก ๆ ปี

ที่สำคัญก็คือแม้ว่าโรคนี้จะสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน แต่ก็คงต้องบอกว่าไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ถึง 100% เต็ม ดังนั้นการป้องกันอีกวิธีหนึ่งที่ดีที่สุดก็คือ การเลี้ยงแมวระบบปิดเพื่อป้องกันไม่ให้แมวเราไปติดเชื้อมาจากแมวอื่นนอกบ้าน และทุกครั้งที่จะจับหรือสัมผัสแมวเราก็ควรล้างมือก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นพาหะนำโรคติดต่อใด ๆ จากนอกบ้านมาสู่น้องแมวของเรานั่นเองค่ะ




เรียบเรียงข้อมูลจาก odaijinipet.com/read_content.php?content_id=0000049&category_id=2
ภาพประกอบจาก presentinghealth.com/sick-cat-symptoms/

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคไข้หวัดแมว (โรคระบบทางเดินหายใจแมว)



โรคระบบทางเดินหายใจในแมว หรือที่เราเรียกกันว่า โรคไข้หวัดแมว นั้น เกิดจากเชื้อไวรัสสองชนิดด้วยกันค่ะ ได้แก่ Feline Calici Virus (FCV) และ  Feline Herpesvirus (FHV) โรคนี้มักจะระบาดในแหล่งของแมวที่มีการอยู่กันอย่างแออัด และมีสุขาภิบาลไม่ดีนัก ซึ่งก็จะทำให้อัตราการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยแมวจะติดเชื้อนี้ในระบบทางเดินหายใจ และแพร่กระจายเชื้อจากแมวป่วยสู่แมวดีผ่านทางการหายใจและสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำลาย ขี้ตา นอกจากนี้แล้วยังสามารถติดเชื้อได้หากมีการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกป็น กรง ที่่นอน ชามอาหารและน้ำเป็นต้น



อาการของโรคไข้หวัดแมว นั้น จะสังเกตไม่ยากค่ะ โดยแมวที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการมีน้ำมูกและน้ำตาใส ๆ ซึ่งต่อมาน้ำตาก็จะข้นเหนียวและมีหนอง มีไข้ ไอ จาม หายใจได้ค่อนข้างลำบาก อ้าปากหายใจ เยื่อตาและเยื่อจมูกอักเสบ มีน้ำลายมาก มีแผลหลุมที่ด้านหลังของปากและเพดานอ่อนทำให้กินอาหารได้น้อยหรือกินไม่ได้เลย ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ขนหยาบกร้าน แมวบางตัวอาจพบแผลติดเชื้อที่อุ้งเท้า และหากเกิดขึ้นในแมวท้อง ก็จะมีอัตราการแท้งลูกสูง โดยจะมีอัตราการตายในลูกแมวมากถึง 50-60% เลยทีเดียว

การรักษาแมวที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดแมวนั้น ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์ค่ะ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ มีการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดน้ำมูกและกระตุ้นความอยากอาหาร อีกทั้งควรแยกแมวป่วยออกจากแมวดี รักษาความสะอาดของภาชนะและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญ ไม่ควรเลี้ยงแมวไว้จำนวนมากในที่เดียวกัน เนื่องจากความเครียดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพแมวอ่อนแอจนทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อโรคได้ง่าย

การป้องกันไม่ให้แมวของเราป่วยเป็นไข้หวัดแมว ที่ดีที่สุดก็คือการทำวัคซีน และรักษาความสะอาดของถิ่นที่อยู่และตัวแมวให้ดี ควรล้างมือก่อนสัมผัสแมวทุกครั้ง หากมีลูกแมวเกิดใหม่ภายในบ้าน ก็ให้แยกลูกแมวไปเลี้ยงต่างหากเมื่อลูกแมวหย่านม (ประมาณ 4-5 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกแมวจะไวต่อการติดเชื้่อเนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่แมวลดลง) โดยกันไม่ให้ลูกแมวปะปนกับแมวโต จนกว่าลูกแมวใหม่จะได้รับการทำวัคซีนเข็มสุดท้ายไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์น่ะนะคะ

แม้ว่าโรคไข้หวัดแมวจะเป็นโรคที่แมวเป็นแล้วสามารถหายเองได้ หากสภาพร่างกายแข็งแรงดีพอ แต่หากพบว่าแมวของเราเป็นโรคดังกล่าว ก็ควรให้การรักษาโดยการพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันความสูญเสียต่อชีวิตแมว และเพื่อป้องกันการระบาดไปสู่แมวตัวอื่นในครอบครัวของเราอีกด้วยนะคะ

การติดต่อสู่คน : โรคนี้ไม่ระบาดจากแมวมาสู่คนค่ะ

อ่าน ไข้หัดแมว



เรียบเรียงข้อมูลจาก welikecat.com/cat-flu.html,thaifeed.net/forum/forum_posts.asp?TID=566,2.nestle.co.th/petloverzone/cat-care-detail.aspx?id=10&cate_id=6
ภาพประกอบจาก catster.com/files/fields/600px-sick-cat-IV.jpg



วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคไข้หัดแมว



เชื่อว่าเพื่อน ๆ บล็อกยัยกะทิที่ทั้งเลี้ยงแมว รักแมว ไม่ว่าจะมีแมวอยู่ในครอบครองหรือไม่ก็ตาม ก็อาจจะเคยได้ยินมาก่อนแล้วว่า แมว ก็มีโรคติืดต่อที่ระบาดจากแมวสู่แมว จากสิ่งแวดล้อมสู่แมวได้เหมือนคนนั่นล่ะนะคะ

บล็อกยัยกะทิในอีกหลายตอนข้างหน้านี้ แอดมินได้รวบรวมเอาโรคติดต่อแมวทั้งหลายแหล่มาสรุปอย่างสั้น เข้าใจง่าย ใช้เวลาจึ๋งนึงแบบรถด่วนขบวนพิเศษ เพื่อให้เพื่อน ๆ ทุกท่านได้รู้จักกับสารพัดโรคติดต่อของแมวไว้บ้าง เพื่อที่จะได้เอาไว้เป็นแนวทางในการป้องกันดูแลเจ้าสมาชิกตัวจ้อยในบ้านของเราให้อยู่รอดปลอดภัยจากโรคร้ายทั้งหลาย เรามาดูโรคติดต่อที่สามารถระบาดในวงกว้างและวงแคบในหมู่แมวกันนะคะ


โรคติดต่อ โรคแรกที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ โรคไข้หัดแมว ค่ะ

โรคไข้หัดแมว หรือในชื่อเรียกอีกชื่อก็คือ โรคลำไส้อักเสบในแมว เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (feline parvovirus) สถานการณ์โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วมากและจะรุนแรงเป็นพิเศษในแมวที่อายุน้อย โดยสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง ทั้งจากแมวสู่แมว หรือจากสิ่งแวดล้อมของแมวป่วยสู่แมวดี โดยเชื้อโรคจะปนเปื้อนอยู่ในสารคัดหลั่งจำพวก อุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำลายได้นานถึง 6 สัปดาห์เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนไม่เชื้อโรคไม่ได้จำกัดอยู่ในตัวแมวเท่านั้น แต่จะกระจายสู่สิ่งแวดล้อมที่แมวป่วยอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่ ที่กิน ที่นอน หรือแม้แต่ตัวผู้เลี้ยงเองก็สามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคจากแมวป่วยมาติดแมวดีได้

อาการของโรคหัดแมวที่มักจะพบก็คือ มีอาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง ท้องเสีย อาเจียน ร่ายกายขาดน้ำ มีผลกับการทรงตัวของลูกแมว และทำให้ลูกแมวตาบอดได้ นอกจากนี้แล้วในแมวที่กำลังท้องอยู่ ก็อาจทำให้แท้ง หรือให้กำเนิดลูกแมวที่มีอาการติดเชื้อด้วย และจะมีอัตราการตายค่อนข้างสูง เรียกว่าอัตราการตายจะสูงถึงระหว่าง 25-90% เลยทีเดียว

วิธีรักษาที่ดีที่สุดก็คือการพาแมวป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นไข้หัดแมวไปพบสัตวแพทย์ค่ะ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ควรจำกัดบริเวณ หรือแยกแมวป่วยออกจากแมวดี เพื่อป้องกันการระบาด และเนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษา แพทย์ก็จะทำการรักษาตามอาการเพื่อพยุงชีวิตแมวให้สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ โดยอาจมีการฉีดยาระงับการอาเจียน ลดการทำงานของลำไส้ งดอาหารและน้ำ ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การพาแมวไปทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือการติดต่อจากโรคนี้

การติดต่อสู่คน : โรคนี้ไม่ติดต่อจากแมวมาสู่คนค่ะ

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาติดตามดูโรคติดต่อแมวกันอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือโรคระบบทางเดินหายในใจแมวค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ



รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
ภาพประกอบจาก http://cats.lovetoknow.com/What_Is_the_Dying_Behavior_of_Cats

A CAT and A DOG


เมื่อวานนี้ขณะนั่งมองยัยกะทิกินอาหารเปียกในกรงอย่างเพลิดเพลิน(เจริญพุง) ฉับพลันอิชั้นก็ได้ยินเสียงหายใจฟึ่ด ๆ แฮ่ก ๆ ดังมาจากทางด้านหลังของตัวเองฮ่ะ

ทีแรกนึกว่าจะมีใครหน้าไหนกล้ามาล้วงตับจับห่านอิชั้นรึไงยะ แต่พอหันกลับไป ก็พบว่า ไอ้เจ้าแครอทมายืนหอบแฮ่ก ๆ แอบมุมเสามองอยู่ละ

จริง ๆ ถามว่าแปลกใจมั้ย ที่เห็นเจ้าแครอทวิ่งแร่ด ๆ จากห้องพี่แม่บ้านมาถึงด้านหลังตึกนี่ อิชั้นก็คงต้องบอกว่าไม่แปลกใจสักเท่าไหร่ฮ่ะ เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็รู้มาละ ว่าแครอทชอบวิ่งมาเมียงมองพี่กะทิ ทุกครั้งที่พี่แม่บ้านปล่อยออกมาวิ่งเล่นนอกห้อง หลายครั้งที่มานอนพังพาบดูพี่กะทิตอนเช้า หรือไม่ก็แวะเวียนมาวิ่งอ้อมไปอ้อมมาอยู่ใกล้ๆ กรงในตอนบ่าย


ช่วงหลัง ๆ นี่อิชั้นพยายามจะจับยัยกะทิกับเจ้าแครอทให้มาเป็นเพื่อนกันฮ่ะ เริ่มจากการจับให้ทั้งครู่มาอยู่ในออฟฟิศด้วยกันบ่อย ๆ ซึ่งช่วงหลังนี้สถานการณ์ดีขึ้นมาก ๆ เพราะยัยกะทิเริ่มรู้จัก "รับน้อง" ด้วยการโดดตะปป แหย่แครอทให้ตกใจเป็นระยะ ๆ..ส่วนเจ้าแครอทเมื่อก่อนเคยแหย..กับพี่กะทิยังไง หลัง ๆ ก็ยังคงแหยพี่กะทิอย่างนั้น (อุอุ)

วันนี้พอเห็นแครอทมายืนมอง อิชั้นก็เลยเรียกแครอทให้เข้ามาหาค่ะ..ประจวบเหมาะกับยัยกะทิกินอาหารเปียกอิ่มพอดี อิชั้นก็เลยคว้าตัวเจ้าแครอทอุ้มใส่กรงยัยกะทิดู ว่ายัยกะทิจะขู่น้องมั้ย..


กะทิมองน้องด้วยสายตาจิก ๆ งง ๆ ฮ่ะ คงนึกว่าไอ้ก้อนขนกลม ๆ นี่เข้ามาในบ้านชั้นทำไม 555+ แต่ไม่ขู่น้องนะคะ แม้ว่าน้องจะเดินดุ้บ ๆ ไปกินอาหารเปียกที่เหลืออยู่ก้นถ้วย พี่กะทิก็ไม่มีอาการจะโดดเข้าไปรังแกน้องแต่อย่างใด


พออาหารเปียกในถ้วยหมด แครอทก็ทำท่าจะโดดออกจากกรงฮ่ะ ประมาณว่า ของกินหมดแระ..เผ่นดีก่าตรู......แต่ด้วยความที่ตัวเองก็ขาสั้น แถมยังขี้กลัว เลยลงจากกรงไม่ได้ซะงั้น


สังเกตดูว่ากะทิหางฟูหูรี่ แสดงอาการตื่นกลัว หรือไม่พอใจแครอทรึเปล่า..เอ๊ะ..ก็ไม่นี่นา ช่วงที่แครอทกินอาหารเปียกก็ยังนั่งเลียขาแต่งหน้าแต่งตัวตัวเองเฉ๊ยยย..จะมีก็แต่เงยหน้าสบตาอิชั้นเป็นระยะ เหมือนจะถามว่าอุ้มเจ้าก้อนขนนี่ขึ้นมาในบ้านหนูไมคะ..


หนัก ๆ เข้าก็ลุกเดินจากชั้นมาดูน้องใกล้ ๆ..


ดูไม่ดูเปล่า ดมน้องอีกต่างหาก..555+


สรุปแล้วงานนี้กะทิยอมให้น้องเข้ามานั่งเล่นในกรงโดยไม่ข่วน กัด ขู่ น้องแต่อย่างใดฮ่ะ สถานการณ์กระชับมิตรของหนึ่งหมากับหนึ่งแมวดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็หวังว่าสักวัน จะได้เห็นทั้งคู่ได้นั่งเล่นนอนเล่นเป็นเพื่อนกันอย่างสบายใจเฉิบน่ะนะคะ

แล้วกลับมาพบกับกะทิได้ใหม่ในครั้งหน้าค่ะ
♥(ノ´∀`)



เรื่องและภาพประกอบโดย Pacharawalai







วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

DIY. บ้านแมวจากกล่องพลาสติก


เมื่อคืนก่อนนู้น ฝนตกหนักมาก ๆ ฮ่ะ ปัญหาก็คือพอฝนตกหนักมาก อิชั้นก็คิดถึงยัยกะทิขึ้นมาทันที เพราะแม้ว่ากรงยัยกะทิจะหลบอยู่ใต้ตึก แต่โอกาสที่จะโดนละอองฝนบ้างเวลาที่ลมแรง ๆ ก็มีสูง แถมกรงยัยกะทิก็เปลือยซะขนาดนั้น (กำลังรอช่างมุ้งลวดมาติดมุ้งให้อยู่) ที่หลบก็ไม่มี อ้อ..มีโต๊ะไม้ที่มีช่องอยู่กระจึ๋งนึง ซึ่งถ้าลมฟ้าลมฝนแรงจริง ๆ ก็น่าจะเอาไม่อยู่เหมือนกันอ่ะนะ


เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากฝนตกใหญ่ อิชั้นก็เข้าไปดูยัยกะทิฮ่ะ สรุปว่าอาหารเม็ดที่ใส่ไว้ให้เมื่อวานชื้นไปหมดเลย ซึ่งก็พอจะเดาได้ว่าละอองฝนคงสาดเข้ามาใต้ตึกจนถึงกรงยัยกะทิด้วยล่ะ

อย่ากระนั้นเลย ไหน ๆ วันนี้มีเวลาว่างละ เรามา DIY.ทำกล่องหลบฝนหรือบ้านแมวแสนประหยัดไว้ให้ยัยกะทิไว้ใช้สักกล่องนึงกันดีกว่าเนอะ

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่มีอะไรมากฮ่ะ อิชั้นซื้อกล่องพลาสติกแบบมีฝาปิดขนาดใหญ่หน่อยมาจากแมคโคร 1 ใบ ราคาใบละ 99 บาท,มีดคัตเตอร์ อันละ 50 บาท 1 อัน แล้วก็มีไม้บรรทัดเหล็กกับปากกาเมจิกอีกสองอย่าง


ได้อุปกรณ์ครบแล้วก็มาลงมือทำกันได้เลยค่ะ อันดับแรกตะแคงกล่องพลาสติกเอาด้านข้างขึ้น เลือกเอานะคะ ว่าจะให้แมวเราเข้าทางด้านไหน ด้านกว้างหรือด้านแคบของกล่อง อิชั้นเลือกด้านกว้างฮ่ะ


จากนั้นก็ทำการวาดช่องสี่เหลี่ยมบนกล่องพลาสติก แล้วก็ทำการค่อย ๆ เจาะเนื้อพลาสติกตามเส้นที่ขีดไว้ลงไป ขั้นตอนนี้ขอให้ทำด้วยความระมัดระวังนะคะ เพราะกล่องพลาสติกเนื้อมันจะลื่น แถมเนื้อหนา,เหนียว กว่าจะเอาคัตเตอร์เจาะลงไปได้ต้องใช้กำลังภายในกันสักนิดหนึ่ง


ระหว่างนั้นก็มียัยตัุวแสบคอยมาป่วนเป็นระยะๆ อยากมีส่วนร่วมไปซะทุกอย่าง แมวบร้าไรเนี่ย T^T


ที่สุดก็เจาะช่องสำเร็จจนได้ฮ่ะ ยังไม่ทันปิดฝาให้เรียบร้อยเลย QC ก็เข้ามานอนเผละ ขอตรวจผลงานก่อนซะงั้น


ปิดฝาแล้วก็ยังขึ้นมานอนแหมะจองที่อีก >0< คือแบบว่า..ไม่ต้องวางเงินดงเงินดาวน์กันล่ะ เริ่มต้นผ่อนเลยละกัน..


อ่ะ..ลองเอาไปใส่กรงดูทีรึ ว่าจะพอเหมาะพอดีมั้ย..


โว๊ะ เจ๋งโพด ๆ..อิอิ..ดูเหมือนยัยกะทิจะชอบ..♥♥♥


งานนี้ขอบอกว่าชิ้นงานออกมาดีพอใช้ฮ่ะ กำลังนึกอยู่ว่าระหว่างที่รอช่างมุ้งลวดมาติดมุ้งลวดให้กรงยัยกะทิ จะตัดเอาแผ่นมุ้งลวดมาแปะบริเวณหน้ากล่องเหมือนเป็นม่านกันยุงให้ซะหน่อย อย่างน้อยก็ช่วยให้ยุงรบกวนยัยกะทิน้อยลง เดี๋ยววันนี้จะลองทำดูน่ะนะคะ

ใครที่กำลังมองหาวิธีทำบ้านกล่องราคาถูกให้น้องแมวที่บ้านสามารถนำวิธีหรือไอเดียไปทำตามได้เลยค่ะ นอกจากจะใช้งบน้อยแล้วยังทำตามได้ไม่ยาก แถมหากมีแมวหลายตัว ก็ยังสามารถทำเจาะกล่องแบบนี้แล้วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เป็นคอนโดแมวได้อีก เรียกว่าเป็นแอคเซสซารี่น้องแมวที่ใช้งานได้ดีคุ้มค่าเงินมาก ๆ ♥

แล้วกลับมาพบกับกะทิได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ



เรื่องและภาพประกอบโดย Pacharawalai


รีวิวทรายแมวยี่ห้อ เจ ช้อยส์ CAT LITTER


ช่วงฤดูฝนแบบนี้ปัญหาที่หนักใจของบรรดาป้า ๆ ลุง ๆ เอ๊ย..บรรดาพ่อแมวแม่แมวก็คือ ความชื้นในอากาศที่จะมาทำให้ ส้วมแมว ของเราเกิดสภาวะที่อุดมทั้งกลิ่นและความชื้นขึ้นได้อ่ะนะคะ

ยิ่งเป็นทรายที่ไม่ได้ผลิตมาโดยตรงเพื่อใช้ในการเก็บกลิ่นและมูลแมวโดยเฉพาะแล้ว แม่คุณเอ๊ยยย..ก้มลงไปร่อนหาทองทีไร อิชั้นแทบจะหัวโขกฝากรงตายทีนั้น


มันเหม็นจริง ๆ ฮ่ะ ขอโบก..แม้ว่าตลอดมาอิชั้นจะพยายามใช้วิธีหมั่นตักอึของนังกะทิออกไปทิ้ง กับลากกรงและกระบะทรายออกไปตากแดดอยู่เป็นประจำเท่าที่สภาพอากาศจะอำนวยแล้วก็เหอะ แต่จนแล้วจนรอด หน้าฝนเยี่ยงนี้ ทรายก่อสร้างที่อุตส่าห์ลดงบลงมาใช้มันก็ไม่ได้แห้งสนิท แถมยังส่งกลิ่นอบอวลยวนใจ จนไม่อยากจะย่างกรายไปทำความสะอาดกรงยัยกะทิ

อย่ากระนั้นเลย เมื่อหลายตอนที่ผ่านมาไหน ๆ อิชั้นก็ได้แจกแจงประเภทของทรายแมวที่นำมาใช้ในกระบะส้วมของน้องเหมียวหลาย ๆ ชนิดไปแระ ลองซื้อมาใช้ดูหน่อยดีกว่ามะ ว่ามันจะดีจริงสมคำโฆษณาขนาดไหน

อันดับแรกก่อนที่จะแพล่นออกไปซื้อ ทรายแมว มาใช้ อิชั้นก็หาข้อมูลก่อนเลยฮ่ะ ว่าในบรรดาสารพัดยี่ห้อของทรายแมว มีทรายอันไหนบ้าง ที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศในราคาที่สบายกระเป๋า แล้วก็ค้นพบว่ายิ่งค้น อิชั้นก็ยิ่งงงงันฮ่ะ เพราะแต่ละคนก็ถูกใจไปคนละแบบ ในที่สุดก็เลิกค้น แล้วก็ออกไปเดินหาดูเองดีกว่า

อิชั้นไม่ได้แวะไปที่ร้านเพ็ทช็อปหรอกนะคะ เนื่องจากมีธุระจะต้องไปซื้ออุปกรณ์บางชนิดจากห้างแมคโคร และโชคดีที่แมคโครเองก็มีพวกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงจำพวกหมาแมวอยู่บ้่างนิดหน่อย หลังจากเดินงง ๆ กับทรายสารพัดยี่ห้อบนชั้นวางอยู่สักพัก อิชั้นก็ตัดสินใจเลือกทรายแพ็คเก็จหน้าตาดีมายี่ห้อนึง เพราะอิ่ตรงหน้าถุงมันโปรยสรรพคุณเอาไว้ว่า เป็นทรายแมวที่จับตัวเป็นก้อนทันทีเมื่อโดนความชื้น

ยี่ห้อที่อิชั้นซื้อมาก็คือ ทรายแมวยี่ห้อ เจ ช้อยส์ CAT LITTER (กลิ่นแอ๊ปเปิ้ล) ฮ่ะ


ซื้อกลับมาที่ตึกปั๊บ อิชั้นก็ลองปุ๊บ ประมาณว่าอยากลองของใหม่เต็มกำลัง


หลังจากล้างกระบะทรายเก่า เช็ดแล้วก็ตากไว้ให้แห้ง อิชั้นก็เททรายแมวของใหม่ลงไปในกระบะฮ่ะ โดยกะความหนาของทรายแมวให้มีความหนาจากก้นกระบะขึ้นมาราว ๆ 1 นิ้วแล้วเกลี่ยให้เสมอทั่วกันทั้งกระบะ จากนั้นก็จับยัยกะทิเข้ากรง แรก ๆ ยัยกะทิก็คงงง ๆ ว่าอิ่กระบะทรายของตัวเองทำไมมันกลายเป็นกลิ่นแอ๊ปเปิ้ลแทนที่จะเป็นฉี่หนูวะ โดดลงไปคุ้ย ๆ ใหญ่ อิชั้นนึกหวั่นใจเล็กน้อย เพราะตลอดมายัยกะทิไม่เคยใช้ทรายของแมวโดยเฉพาะเลย มันจะกล้าใช้งานเหรอ อิชั้นจะเสียงตังค์ฟรีมั้ยเนี่ย

ผ่านไปคืนนึง วันรุ่งขึ้นอิชั้นก็เข้าไปดูผลงานฮ่ะ แรกพบเห็นสภาพของกรงและกระบะทรายเป็นเยี่ยงนี้


เอิ่ม..เม็ดทรายติดติงคุณนายกระทิออกมาเต็มเลยนะเค๊อะ..คือก็เข้าใจล่ะ ว่ามันต้องมีติดมาบ้างอะไรบ้าง เพราะแต่เดิมที่ใช้ทรายก่อสร้างธรรมดา มันก็ติดขายัยกะทิออกมากราดเกลื่อนจนต้องกวาดทำและทำความสะอาดกรงกันทุกวันอยู่แล้ว เพราะเหตุนี้เอง อิชั้นถึงได้ซื้อแผ่นรองกันฝุ่นมาปูไว้หน้ากระบะซะชั้นหนึ่ง


มาดูผลงานของยัยกะทิกันบ้างฮ่ะ เมื่อชะโงกไปดูก็ไม่เห็นจะมีอะไรผิดปกติในตัวทรายแมวเลยสักนิด


ยังไงเนี่ย..ไม่มีทั้งกลิ่น ไม่มีทั้งก้อน ตกลงแกได้เข้าส้วมมั่งมั้ยห๊ะ..กะทิ >.<


 แต่พอลองใช้ที่ตักอึแมวแซะลงไป..เอ๊ะ..นี่มันก้อนอัลไล.. ??


ปรากฎว่าไอ้ก้อน ๆ แข็ง ๆ ที่จับตัวกันใหญ่มหึมานี่คือ ฉี่แมวฮ่ะ 555+ อเมซิ่งมาก เพราะอิชั้นไม่ได้กลิ่นมันเลย แถมพอใช้ที่ตักช้อนมันออก มันก็ไม่ได้แตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยแต่อย่างใด เรียกว่าจับตัวเป็นก้อนได้ดีมาก ๆ


สำหรับอึแมว เท่าที่สังเกตทรายมันจะไม่จับตัวอึมากเท่าไหร่นะคะ แต่สภาพของอึแมวจะแห้งไปเอง ไม่มีกลิ่น ตักง่าย ย่นระยะเวลาทำความสะอาดไปเยอะ


อิชั้นไม่กล้าตักอึมันมาให้ดูเยอะฮ่ะ เผื่อบางคนกำลังอร่อยกับขนมหน้าจอ >0</ เอาเป็นว่า คะแนนความพอใจในทรายยี่้ห้อนี้ เต็ม10 อิชั้นให้ 8 ที่หักไปสอง ก็คือดูท่ามันจะเปลืองอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เพราะปริมาณฉี่แมวที่จับตัวเป็นก้อน ตักทีนึง ก็ออกมาก้อนใหญ่ยังกะหินแน่ะ


ที่สำคัญก็คือ นังกะทิเค้าพอใจฮ่ะ ^0^ เพราะทรายแมวยี่ห้อนี้ไม่ทำให้ส้วมมันเหม็นเหมือนการใช้ทรายก่อสร้างที่เคยใช้อยู่ พอตักเศษสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากกระบะทรายหมดเรียบร้อยก็เติมทรายแมวลงไปให้มันอีกนิด ยัยกะทิก็โดดลงไปนอนขดขาทำหน้ากลมในกระบะหน้าตาเฉยซะงั้น

เอาเป็นว่าใครที่กำลังมองหาทรายแมวมาใส่ส้วมให้บรรดาคุณเหมียว ๆ ทีบ้านก็ลองมอง ๆ หาดูก็แล้วกันฮ่ะ สนนราคาที่อิชั้นซื้อมา ถุง 10 ลิตร (8.4 กก.) มันอยู่ที่ 189 บาท ซึ่งก็นะ ยัยกะทิก็ใช้แค่ตัวเดียว อิชั้นว่ามันก็น่าจะใช้ได้ชนเดือนล่ะ เอาเป็นว่าก็รีวิวเอาไว้เป็นทางเลือกสำหรับเพื่อน ๆ ทุกคนก็แล้วกันนะคะ

ไว้โอกาสหน้ามีโอกาสได้ลองทรายแมวยี่ห้อใหม่ จะเอามารีวิวเปรียบเทียบให้ฟังกันอีกค่ะ แล้วกลับมาพบกับยัยกะทิได้ใหม่ในครั้งหน้าค่ะ




เรื่องและภาพประกอบโดย Pacharawalai