วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โรคติดต่อในแมว ตอน โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Fip)


โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือที่เรารู้จักในชื่อของโรค FIP (feline infectious peritonitis) ก็คือโรคติดต่อในแมวที่ไม่ติดต่อสู่คนอีกโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสค่ะ

โรคนี้ถือว่าเป็นโรคติดต่อในแมวที่ร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้ โดยแมวจะได้รับเชื้อโรคโดยการติดต่อผ่านทางช่องปากและจมูก น้ำลายและอุจจาระของแมวด้วยกันเอง รวมไปถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมและใช้สิ่งของที่มีเชื้อโรคที่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่นอน กระบะทราย ชามอาหารและน้ำ



อาการที่เด่นชัดของโรคนี้โดยทั่วไปมีสองแบบด้วยกันค่ะ คือเป็นอาการแบบเปียกและแบบแห้ง อาการแบบเปียกก็คือ แมวจะเกิดอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย มีไข้ มีน้ำมูก จาม น้ำตาไหล มีอาการอักเสบภายในช่องท้อง หายใจลำบาก (แมวส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการแบบเปียก) ส่วนอาการแบบแห้งนั้นก็คือ แมวจะมีอาการซึม น้ำหนักลด โลหิตจางและมีไข้เนื่องจากไวรัสมีการแบ่งตัวอย่างช้า ๆ และจะทำให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังกับอวัยวะภายใน อาทิ ปอด ไต และระบบประสาทเป็นต้น

การติดต่อของโรคนี้ คงต้องบอกว่าติดต่อได้ง่ายมากค่ะ เพราะสามารถติดต่อได้ทั้งจากตัวแมวเองและสภาพแวดล้อม รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ของแมวที่ใช้ร่วมกัน มักระบาดในสถานที่ที่มีแมวอยู่กันอย่างหนาแน่นและสุขอนามัยของแมวไม่ดี โดยจะติดต่อผ่านการกิน การหายใจ และการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนของอุจจาระของแมวที่มีเชื้อนี้

แนวทางการรักษาเมื่อพบว่าแมวของเรามีอาการของโรคที่น่าจะเข้าข่ายเป็น FIP ก็คือ การรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์ค่ะ และเนื่องจากยังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นโรคที่รักษายากพอสมควร จึงต้องใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ โดยการให้ยาลดการอักเสบและให้ยากดภูมิน่ะนะคะ

การป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว ที่สำคัญที่สุดก็คือ การพาแมวของเราไปทำวัคซีน รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยแมว และการเลี้ยงแมวระบบปิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แมวของเราไปติดเชื้อโรคนี้มาจากนอกบ้าน และกลาเป็นพาหะนำโรคติดต่อมาสู่แมวตัวอื่น ๆ ภายในครอบครัวของเราอีกด้วยค่ะ



เรียบเรียงข้อมูลจาก rayongvetclinic.wordpress.com,แมวไทย.คอม
ภาพประกอบจาก lijiun.files.wordpress.com/2012/01/p1020802.jpg