วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อาหารแมวโต ตอน เลือกอาหารเม็ดหรืออาหารเปียกดี


อาหารสำเร็จรูปของแมว ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดนั้นแบ่งออกได้เป็นสองชนิดด้วยกันค่ะ นั่นก็คือ อาหารที่มีในรูปแแบบของ อาหารเม็ด และอาหารที่มาในรูปของ อาหารเปียก


อาหารเม็ดนั้นจะมีลักษณะแบบเป็นเม็ดแห้ง ๆ มีรูปทรงและขนาดที่พอเหมาะสำหรับการกินของแมว ส่วนใหญ่แล้วก็มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ ผ่านการปรุงรสและกลิ่นให้แมวชื่นชอบ เช่น รสปลาทู รสปลาทะเล รสปลาขาว เป็นต้น ซึ่งส่วนประกอบของอาหารเม็ดเหล่านี้โดยมากมักมาจากเนื้อสัตว์ ผ่านการแปรรูป ทั้งการบดและอบแห้ง อุดมด้วยสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ ในอัตราส่วนที่แมวต้องการ และมีโปรตีนประมาณ 20 % เพื่อให้แมวใช้ในการเจริญเติบโต มีไขมันที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย มีวิตามินที่ทำให้ขนสวย มีไฟเบอร์ที่ทำให้แมวท้องไม่ผูก นอกจากนี้เมื่ออยู่ในรูปแบบของอาหารเม็ดซึ่งเป็นอาหารแห้ง ยังช่วยให้แมวที่กินอาหารประเภทนี้ได้มีการขัดฟันและบริหารเหงือกได้อีกด้วย


การให้แมวกินอาหารเม็ด หรืออาหารแห้งนั้น ควรหัดให้กินตั้งแต่แมวเริ่มหย่านมใหม่ ๆ หรือประมาณ 2 เดือนค่ะ โดยผสมนมเข้ากับอาหารเม็ด จากนั้นเมื่อลูกแมวโตขึ้นมีอายุได้ประมาณ 3 เดือน จึงให้เฉพาะอาหารแห้งอย่างเดียว หากแมวตัวไหนที่ไม่เคยกินอาหารเม็ดมาก่อน แล้วมาทำการให้อาหารเม็ดโดยทันที อาจทำให้แมวท้องเสียได้ ดังนั้น เมื่อจะหัดให้แมวกินอาหารเม็ดก็ควรค่อย ๆ ผสมอาหารเม็ดคลุกเคล้ากับอาหารเดิมที่แมวเคยกินทีละน้อย เมื่อแมวเริ่มชินแล้ว จึงให้่อาหารเม็ดแต่เพียงอย่างเดียวน่ะนะคะ

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงเมื่อเราเลี้ยงแมวด้วยอาหารเม็ด ซึ่งเป็นอาหารแห้ง ก็คือควรมีถ้วยใส่น้ำสะอาดตั้งไว้ข้างชามอาหารแมวสำหรับให้แมวกินเสมอค่ะ เนื่องจากอาหารเม็ดมีน้ำเป็นส่วนประกอบน้อยมาก (ประมาณไม่เกิน 10% เท่านั้น) เมื่อแมวกินอาหารแห้งจะทำให้กลืนไม่สะดวกและทำให้คอแห้งจนหิวน้ำได้

มาถึงชนิดของหารสำเร็จรูปอีกชนิดหนึ่งสำหรับแมวกันบ้างค่ะ นั่นก็คือ อาหารเปียกนั่นเอง

อาหารเปียกนั้นมีลักษณะตามที่เรียกชื่อน่ะนะคะ นั่นก็คือ มีลักษณะเปียกเนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนผสมค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่แล้วมักบรรจุมาในซองปิดผนึกแน่นหนา หรือในกระป๋อง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแมวมักจะชอบกินอาหารชนิดนี้มากกว่า เนื่องจากอาหารเปียกมีลักษณะคล้ายอาหารปรุงเอง คือมีลักษณะเป็นน้ำและเนื้อสัมผัสเมื่อกินจะนุ่ม กินได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังมีหลายรสชาดให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น อาหารเปียกรสปลาทะเลประเภทต่าง ๆ หรือแม้แต่ กุ้ง หอย ปู ที่ผสมอยู่ในเนื้อเจลลี่


การให้อาหารสำเร็จรูปแก่แมวนั้น ไม่ควรให้เฉพาะอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งนะคะ แต่ควรให้ทั้งอาหารเม็ดและอาหารเปียกสลับกันไป เนื่องจากอาหารทั้งสองแบบมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน อย่างเช่น อาหารเปียกนั้นจะมีข้อดีก็คือ มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่เยอะ ซึ่งก็จะเหมาะกับแมวซึ่งมีนิสัยเป็นสัตว์ที่กินน้ำน้อย เพราะจะได้รับน้ำในทางอ้อมมากกว่า แต่ก็มีข้อเสียตรงที่อาหารเปียกมักมีราคาแพงกว่าอาหารเม็ด และการกินอาหารเปียกทำให้แมวไม่ได้รับการขัดฟันจากการเคี้ยวอาหาร จึงอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องฟันตามมาเมื่อแมวอายุมาก

ส่วนอาหารเม็ดนั้น ข้อดีก็คือ มีราคาที่ย่อมเยากว่าอาหารเปียกค่ะ แต่เนื่องจากเป็นอาหารที่ผ่านการผลิตโดยวิธีการบดและอบแห้ง จึงมีน้ำเป็นส่วนประกอบน้อย ทำให้ความน่ากินต่ำกว่าอาหารเปียก และอาจทำให้แมวเกิดอาหารท้องผูกได้ เนื่องจากแมวมีนิสัยกินน้ำน้อย แต่ข้อดีก็คือแมวที่กินอาหารแห้งก็จะได้รับการขัดฟันอย่างสม่ำเสมอน่ะนะคะ



เรียบเรียงข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
ภาพประกอบโดย Pacharawalai




วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อาหารแมวโต



เมื่อ ลูกแมวโต ขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็ถึงเพลาที่จะต้อง หย่านม และให้เด็ก ๆ เริ่มกินอาหารเองได้แล้วล่ะนะคะ ปกติแล้วลูกแมวนั้นจะเริ่มกิน อาหารเปียก ได้เมื่อมีอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ แต่ก่อนหน้านั้นก็ควรฝึกให้ลูกแมวกินอาหารเปียกร่วมกับกินนมไว้ก่อน จากนั้นเมื่อลูกแมวโตเต็มที่เมื่อมีอายุราว 6-7 เดือน ก็จะสามารถกินอาหารต่าง ๆ ที่เราจัดหาให้โดยไม่ต้องพึ่งพานมเพิ่มเติมแต่เพียงอย่างใด


การให้อาหารลูกแมวที่กำลังโตหรือหย่านมนั้น ควรจัดอาหารให้กินวันละ 3 มื้อค่ะ จากนั้นเมื่อแมวโตเต็มที่ก็ให้ลดมื้ออาหารเหลือเพียง 2 มื้อ และไม่ควรใส่อาหารไว้ในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากอาหารที่ตั้งไว้ตลอดทั้งวันอาจบูดเสีย หรืออาจมีแมลงวัน,มดมาไต่ตอมได้ อีกทั้งยังเป็นการทำให้แมวเสียนิสัย กินอาหารไม่เป็นเวลา ดังนั้นจึงควรให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละมื้อเพื่อให้แมวรู้เวลาในการกินอาหารน่ะนะคะ

สารอาหารหลักที่แมวต้องการมีหลายชนิดด้วยกันค่ะ อาทิเช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดตร วิตามิน เกลือแร่ ซึ่งสารอาหารต่าง ๆ เหล่านั้น ก็จะมีมากบ้างน้อยบ้างในอาหารแต่ละชนิดที่แมวกิน ซึ่งหากจะแบ่งประเภทของอาหารที่คนเราให้แมวกินนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น อาหารแบบปรุงเอง,อาหารสด,อาหารสำเร็จรูปของแมวโดยตรงซึ่งยังแยกประเภทออกได้อีกสองชนิดคืออาหารเม็ดและอาหารเปียก ซึ่งอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นก็มีความแตกต่างกันไปในเรื่องของรสชาดและคุณค่าทางอาหาร

สำหรับคนไทยของเรานั้นมักนิยมเลี้ยงแมวด้วยอาหารที่ปรุงขึ้นเองค่ะ อย่างเช่น คลุกข้าวกับปลา,ไข่ต้ม,น้ำแกง หรืออาหารจืด ๆ ซึ่งเป็นอาหารที่คนกินได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะทำให้แมวอิ่มท้องและเจริญเติบโตได้ แต่ก็อาจได้รับสารอาหารจากอาหารแต่ละชนิดมากไป หรือน้อยไปไม่เหมาะสมกับร่างกายแมว

ปัจจุบันนี้จึงได้มีการคิดค้นอาหารแมวสูตรต่าง ๆ ที่มีสารอาหารครบถ้วนและให้ความสะดวกสำหรับผู้เลี้ยงออกมาขายตามท้องตลาด ซึ่งเป็นอาหารที่มีรสชาดและสารอาหารที่เหมาะสมตามความต้องการของแมวในแต่ละวัยน่ะนะคะ ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่เลี้ยงแมวที่ต้องการความสะดวกสบาย ใช้เวลาน้อยในการจัดเตรียมอาหาร แถมยังเป็นการส่งเสริมให้แมวของเรามีสุขภาพที่ดีและได้รับสารอาหารครบถ้วนอีกด้วย

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาดูชนิดของอาหารสำเร็จรูปของแมวกันว่ามีแบบไหนบ้าง แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ




เรียบเรียงข้อมูลจาก dogacat.com,wikipedia.org
ภาพประกอบจาก bcdn-sphotos-g-a.akamaihd.net

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โปรแกรมทำวัคซีนแมว


เอาล่ะ ไหน ๆ ก็หลวมตัวเขียนเรื่องการเลี้ยงแมวกำพร้ามาหลายตอนละ ไล่ตั้งแต่เรื่องของการให้อาหาร การขับถ่าย ไปจนถึงการดูแลเรื่องอุณหภูมิร่างกายแมว เขียนไปเขียนมา ก็นึกขึ้นมาได้ว่า อ้าว..แล้วถ้าลูกแมวเริ่มโตแล้วล่ะ เราควรจะดูแลเรื่องอะไรกันต่อ แน่นอนว่าสถานีต่อไปที่จะต้องเขียน ก็คงจะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพของลูกแมวที่จะต่อเนื่องไปจนถึงการเป็นแมวโตเลยทีเดียว นั่นก็คือ การทำวัคซีนให้น้องแมวเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ น่ะนะคะ


สำหรับการทำ วัคซีน ใน แมว ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเริ่มทำกันตั้งแต่แมวยังเล็ก ๆ อยู่ฮ่ะ โดยมีคำแนะนำโปรแกรมการทำวัคซีนให้แมวตามอายุของแมวดังนี้

  • ลูกแมวอายุ 3-4 สัปดาห์ ควรนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ และถ่ายพยาธิ
  • ลูกแมวอยุได้ 6 สัปดาห์ พาไปหยอดยาป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ
  • ลูกแมวอายุ 8 สัปดาห์ ต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ โดยการฉีดครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 1
  • พออายุได้ 9 สัปดาห์ ให้พาฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย ครั้งที่ 1
  • อายุ 12 สัปดาห์ พาไปฉีดวัคซีนตัวสำคัญค่ะ นั่นก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • อายุ 13 สัปดาห์ คราวนี้จะเป็นเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ ครั้งที่ 2
  • อายุได้ 14 สัปดาห์ พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย ครั้งที่ 2
  • เมื่ออายุได้ 16 สัปดาห์ พาไปหยอดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ (FIP) ครั้งที่ 1 (เป็นวัคซีนหยอดทางจมูก)
  • อายุได้ 19 สัปดาห์ หยอดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ (FIP) ครั้งที่ 2 (เป็นวัคซีนหยอดทางจมูก)
จะเห็นได้ว่าโปรแกรมวัคซีนของลูกแมว หรือแมวเด็กนั้ัน "แน่น" มากฮ่ะ เพื่อน ๆ สมาชิกบางคนที่เึคยเลี้ยงน้องมามาก่อน จะรู้ได้ในทันทีว่าวัคซีนที่ลูกแมวได้รับ มากครั้งมากเข็มกว่าเยอะ นอกจากทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ในแมวเด็กแล้ว ยังต้องพาไปทำวัคซีนประจำปีต่าง ๆ ดังโปรแกรมด้านล่างนี้อีกด้วย

  • ทุก 6 เดือน ควรพาแมวไปตรวจสุขภาพ และถ่ายพยาธิ
  • ทุก 1 ปี ควรได้รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด โรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย นอกจากนี้ยังต้องหยอดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ (FIP) ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ เมื่อแมวอายุครบ 1 ปี ก็ควรพิจารณาพาแมวไปทำหมันและควรป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำด้วยน่ะนะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาว่ากันเรื่องอาหารแมวกันต่อค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ




เรียบเรียงข้อมูลจาก catandkittenstory.com/cat-table.asp
ภาพประกอบจาก diarrheaincats.net/expectations-from-a-cat-clinic

วิธีเลี้ยงลูกแมวกำพร้า ตอน กกไฟให้ความอบอุ่นลูกแมว



จั่วหัวเรื่องบทความไว้ยังงี้ ก็เพราะวันนี้เราจะมาคุยกันต่อถึงเรื่องการ เลี้ยงลูกแมวกำพร้า หรือลูกแมวเด็กที่ไม่ได้มีแม่แมวคอยให้ความอบอุ่น หรือให้การเลี้ยงดูอ่ะนะคะ คงมีแต่เฉพาะพ่อแมวแม่แมวที่เป็นคนที่พร้อมจะให้ความรักและการเลี้ยงดู ให้เค้าได้อยู่รอดปลอดภัย เติบโตขึ้นเป็นแมวใหญ่และเป็นสมาชิกแสนรักของบ้านให้ได้ ดังนั้นการเรียนรู้วิธีที่จะช่วยให้ลูกแมวมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง จึงเ็ป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง บล็อกยัยกะทิวันนี้เราจะมาดูในเรื่องของการให้ความอบอุ่นแก่ลูกแมวทารกกันค่ะ

จากที่ค้น ๆ คว้า ๆ มา ได้รับข้อมูลมาว่า ลูกแมวเล็กหรือลูกแมวทารกนั้นจะยังไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้น่ะนะคะ เนื่องจากว่าหลอดเลือดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หากลูกแมวแรกเกิดมีแม่แมวอยู่ด้วยก็จะได้รับความอบอุ่นจากการนอนกกของแม่ แต่หากไม่มีแม่แมว ก็ต้องได้รับความอบอุ่นทดแทนจากแหล่งต่าง ๆ อย่างเช่น การใช้ตู้อบ หรือเครื่องทำน้ำอุ่นซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับลูกสัตว์เกิดใหม่เป็นต้น


แต่สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไม่ได้มีเครื่องมือแบบในคลีนิคหรือโรงพยายบาลสัตว์ที่จะใช้อนุบาลลูกแมวแรกเกิด เราก็สามารถหาแหล่งความอบอุ่นง่าย ๆ ให้กับลูกแมวได้ค่ะ โดยการนำลูำกแมวใส่กล่องจากนั้นจึงทำการอบด้วยหลอดไฟสีส้มขนาด 60 วัตต์ (หลอดไส้นะคะ ไม่ใช่หลอดประหยัดไฟ) โดยทำการส่องให้ห่างจากตัวลูกแมวประมาณ 2-3 ฟุต

โดยปกติแล้วอุณหภูมิของลูกแมวอายุ 1 วัน จะอยู่ที่ประมาณ 33-36 องศาเซลเซียสค่ะ แต่เมื่อโตขึ้นอีกนิด คืออายุราว 2-21 วัน ก็จะอยู่ราว ๆ 33.5-37.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น เราจึงควรรักษาอุณหภูมิของร่้างกายลูกแมวให้เหมาะสม แต่ก็ควรระวังอย่าให้ความร้อนจากการอบหลอดไฟสูงเกินไป มีข้อสังเกตง่าย ๆ ค่ะ กรณีที่เลี้ยงลูกแมวหลายตัว ให้สังเกตว่า หากลูกแมวมานอนกองรวมกัน แสดงว่า ความอบอุ่นไม่พอ ให้ แต่หากลูกแมวนอนกระจายกันตัวละทิศละทาง ก็ให้สันนิษฐานว่าร้อนเกินไป

ระหว่างทำการอบหลอดไฟให้ลูกแมว อย่าลืมนำผ้าขนหนูชุบน้ำวางไว้บริเวรเหนือกล่องที่ลูกแมวอยู่ด้วยนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ ไม่ให้แห้งเกินไป และควรบุกล่้องด้วยผ้าห่มหรือผ้าขนหนูเพื่อให้ลูกแมวสามารถรักษาอุณหภูมิร่างกายได้สม่ำเสมอ และยังช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวและพัฒนาการของลูกแมวด้วยค่ะ





เรียบเรียงข้อมูลจาก yimwhan.com/board/show.php?user=wimzaa&Cate=6&topic=3
bloggang.com/viewdiary.php?id=wachira&month=09-2007&date=26&group=3&gblog=48

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีเลี้ยงลูกแมวกำพร้า ตอน การขับถ่ายของลูกแมว


ถัดจากเรื่องกินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของ ลูกแมวกำพร้า ที่ไม่มีแม่แมวคอยดูแลให้อาหาร ความรัก และความอบอุ่น ก็มาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องของการขับถ่ายนั่นเองค่ะ


สำหรับ ลูกแมวทารก นั้น ในระยะแรกที่เกิด ลูกแมวจะไม่สามารถควบคุมในเรื่องของการ ขับถ่าย ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ดังนั้นคนเลี้ยงจึงต้องใส่ใจในเรื่องของการกระตุ้นให้ลูกแมวมีการขับถ่าย เพื่อถ่ายเทของเสียจากร่างกายออกไปด้วย โดยการช่วยกระตุ้นให้ลูกแมวทำการอึฉี่ ด้วยการใช้กระดาษทิชชู่,สำลี หรือผ้านุ่ม ๆ ชุบน้ำอุ่น แล้วแตะหรือลูบเบา ๆ บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก ซึ่งด้วยวิธีนี้ ก็จะทำให้ลูกแมวปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ภายใน 1-2 นาที การกระตุ้นนี้ควรทำทุกครั้งหลังป้อนอาหารหรือป้อนนมให้แก่ลูกแมว (ในระยะแรกหากกระตุ้นเบา ๆ ลูกแมวจะฉี่นะคะ แต่เมื่อกระตุ้นต่อไป และลูกแมวเริ่มมีอาการเกร็งตัว นั่นแสดงว่าลูกแมวกำลังจะอึค่ะ ให้กระตุ้นต่อไปจนกว่าลูกแมวจะอึ) หากลูกแมวไม่ยอมอึหรือฉี่ก็อย่าได้นิ่งนอนใจนะคะ ควรพาไปพบสัตวแพทย์เนื่องจากอาจจำเป็นต้องสวน หรือได้รับยาระบาย ซึ่งการดูแลเรื่องการขับถ่ายนี้ ควรดูแลไปจนกว่าลูกแมวจะอายุครบ 21 วัน ซึ่งในช่วงอายุเท่านั้นลูกแมวจะสามารถขับถ่ายของเสียได้เองค่ะ

ปัสสาวะของลูกแมวปกติจะมีสีเหลืองอ่อน หรือเป็นน้ำใส ๆ ค่ะ หากสีของปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม หรือส้ม นั่นแสดงว่าลูกแมวอาจได้รับอาหารไม่เพียงพอ ส่วนอุจจาระจะมีสีน้ำตาลจางหรือเข้ม หากพบว่าอุจจาระของลูกแมวเป็นสีเขียว นั่นแสดงว่าลูกแมวอาจติดเชื้อหรือเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ หากอุจจาระของน้องแมวแข็งมาก น่าจะเป็นไปได้ว่าคนเลี้ยงให้อาหารคราวละมากไป แต่ให้ไม่บ่อยพอ จึงทำให้น้องแมวท้องอืด มีแก๊ส และหายใจไม่สะดวก จึงควรปรับเวลาและปริมาณของการให้อาหารลูกแมวให้เหมาะสมน่ะนะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาดูในเรื่องของอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับลูกแมวทารกกันต่อค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ




เรียบเรียงข้อมูลจาำก trueplookpanya.com
ภาพประกอบจาก grumpycatpics.com

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีเลี้ยงลูกแมวกำพร้า ตอน การให้นมแมวเด็ก


สำหรับเพื่อน ๆ บล็อกยัยกะทิที่กำลังอยากจะเลี้ยง แมว หากไม่มีแม่แมวเป็นของตัวเอง การรับแมวมาเลี้ยงตั้งแต่ตัวน้อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลาย ๆ ท่านเลือกปฏิบัติน่ะนะคะ แต่หลายครั้งเลยทีเดียวค่ะ ที่เราต้องรับแมวตัวน้อยเข้ามาอยู่ในครอบครัวอย่างไม่ตั้งใจ หรืออาจจำเป็นต้องช่วยชีวิตแมวเด็กเอาไว้เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิเช่น แม่แมวป่วยหรือเสียชีวิต ลูกแมว ถูกนำมาปล่อยหรือพลัดหลงกับแม่ หรือแม้แต่กระทั่งลูกแมวที่เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันต่าง ๆ ซึ่งการรับลูกแมวเล็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว โดยที่ทั้งตัวลูกแมวเอง และตัวเรายังไม่พร้อม ก็นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างยุ่งยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแมวเด็ก หรือแมวที่มีขนาดเล็กมากเกินไป มักมีโอกาสรอดชีวิตต่ำ อันเนื่องมาจากขาดการดูแลเอาใจใส่จากแม่แมว อีกทั้งอาจจะมีปัญหาเรื่องของการไม่ได้กินนมซึ่งเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวที่ลูกแมวเล็กจะสามารถใช้ในการเจริญเติบโตได้อีกด้วย


บล็อกยัยกะทิวันนี้จึงจะขอนำแนวทาง และวิธีปฏิบัติ สำหรับเพื่อน ๆ ที่จำเป็นต้องรับแมวเล็กที่มีอายุน้อยเกินไปกว่าที่จะหย่านมแม่ได้มาเลี้ยงกันค่ะ เรามาดูกัีนนะคะ ว่าหากต้องรับเลี้ยงแมวที่มีขนาดเล็กหรือมีอายุน้อยมาก ๆ แล้วนั้น จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อรักษาชีวิตแมวเด็กให้อยู่รอดปลอดภัยและเติบโตเป็นแมวใหญ่ได้ในที่สุด

สำหรับในวันนี้เราจะมาดูเรื่องที่สำคัญที่สุดเป็นลำดับต้นๆ กันก่อน นั่นก็คือ เรื่องของ อาหารของแมวเด็ก ที่ไม่มีแม่แมวเลี้ยงนั่นเองค่ะ

สำหรับลูกแมวนั้น อาหารที่สำคัญที่สุดในช่วงยังเล็ก ก็คือน้ำนมนั่นเอง แต่หากแมวเด็กหรือแมวทารกนั้นไม่มีแม่ที่คอยให้อาหาร ก็อาจทำให้แมวเสียชีวิตเพราะขาดอาหารและน้ำในที่สุด ดังนั้นหากเราจำเป็นต้องเลี้ยงแมวเด็กที่ยังอยู่ในวัยทารก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเลือกอาหารหรือการเลือก นม ที่เหมาะสมสำหรับเขา ซึ่งนมที่เหมาะสมสำหรับแมวเด็กหรือแมวทารกนั้น ก็คือนมสำหรับลูกสัตว์โดยเฉพาะ หรืออาจจะใช้นมแพะก็ได้ (ห้ามให้นมวัวเด็ดขาด)โดยลูกแมวต้องดูดนมจากขวดหรือไซริ้งค์ซึ่งสามารถหยดนมให้ลูกแมวกินได้ (มีเคล็ดลับว่าหากต้องการให้ปลายไซริ้งค์นิ่ม ให้นำไส้ไก่รถจักรยานที่ลวกน้ำร้อนทำความสะอาดแล้ว มาทำการตัดให้มีความยาวราว 1 ซม. แล้วสวมบริเวณปลายไซริ้งค์ก็จะใช้แทนจุกนมได้)

การให้นมจากหลอดหรือขวดนมนั้น เราต้องมีความระมัดระวังให้มาก ๆ ค่ะ เนื่องจากลูกแมวอาจสำลักนมเข้าสู่ปอดอย่างไม่ตั้งใจจนทำให้หมดสติ ดังนั้นท่าที่เหมาะสมสำหรับการป้อนนมลูกแมวเล็กจึงไม่ควรหงายท้องแมวเพื่อป้อนนม และควรนำลูกแมวพาดบ่าให้ลำตัวตั้งตรง ตบหลังเบา ๆ เพื่อให้แมวเรอหลังให้อาหารด้วยน่ะนะคะ


คลิปการให้นมลูกแมวเด็กด้วยหลอดไซริ้งค์ จาก ยูทูป

สำหรับช่วงเวลาในการป้อนนมลูกแมวเล็กนั้น หากเป็นลูกแมวทารกที่มีอายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ ลูกแมวจะหิวบ่อยค่ะ ดังนั้นจึงควรป้อนนมลูกแมวที่มีอายุน้อยขนาดนี้ ทุก ๆ  2 ชั่วโมง โดยป้อนครั้งละ 1-2 ซีซี.

เมื่อลูกแมวอายุได้ 2 สัปดาห์ ควรป้อนนมให้ครั้งละ 5-7 ซีซี. ทุก ๆ 2 ชั่วโมง

ลูกแมวอายุ 3 สัปดาห์ ป้อนนมครั้งละ 7-10 ซีซี. ทุก 3 ชั่วโมง

ลูกแมวอายุ 4 สัปดาห์ ป้อนนม 4-6 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการให้อาหารอ่อน/อาหารเปียก วันละ 4-5 ครั้ง ลดการให้อาหารช่วงกลางคืนลง

และลูกแมวจะเริ่มกินอาหารแข็งได้เมื่อมีอายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ





รวบรวมข้อมูลจาก trueplookpanya.com,rakmaw.com
ภาพประกอบจาก grumpycatpics.com/pics/16/A-Small-Ball-Of-Kitty-Cat.jpg

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อาหารแมวเล็ก



สำหรับเพื่อน ๆ บล็อกยัยกะทิ ที่มี ลูกแมวตัวเล็ก ๆ อยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกแมวในเรือนเบี้ยที่เกิดจากแม่แมวของเราเอง หรือรับเลี้ยงมาจากที่อื่น ๆ ก็คงจะนึกสงสัยอยู่ ว่าไอ้เจ้าแมวเด็ก ๆ พวกนี้นี่ มันควรจะกินอาหารอะไรหรือกินอะไรหลังหย่านมได้มั่งฟระ (>0< )/

สำหรับลูกแมวที่เกิดในบ้านของเราเองนั้น คงตัดปัญหาเรื่องการได้กินนมแม่ไปส่วนหนึ่งฮ่ะ เพราะอย่างน้อยลูกแมวก็จะได้กินนมแม่จนหย่านมไปเอง แต่ก็ไม่ควรให้ลูกแมวหย่านมเมื่ออายุต่ำกว่าเดือนครึ่ง (45 วัน) น่ะนะคะ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพของลูกแมวไม่ดีในภายหลังได้ แต่หากลูกแมวเริ่มหย่านมแล้วก็ควรเริ่มเสริมอาหารอื่น ๆ แทนการให้กินแต่นมเพียงอย่างเดียว


สำหรับ ลูกแมว ที่มีอายุประมาณ 3 เดือนนั้น เราสามารถให้ อาหาร ที่เป็นเนื้อได้แล้วค่ะ โดยเป็นเนื้อที่สับละเอียดและให้เพียงคราวละเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อเตรียมตัวให้ร่างกายของลูกแมวเริ่มปรับตัวรับอาหารอื่น และควรให้อาหารวันละ 3-4 ครั้งในช่วงที่ลูกแมวกำลังโต รวมถึงจัดน้ำสะอาดให้ลูกแมวกินได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามแม้ว่าลูกแมวจะหย่านมแล้ว นมก็ยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกแมวไปจนกว่าจะอายุเลย 9 เดืิอนไปแล้วน่ะนะคะ จึงควรให้ลูกแมวได้กินนมวันละครั้ง หรือเป็นครั้งคราวอยู่

นมที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงลูกแมว ไม่ควรเป็นนมวัวค่ะ เนื่องจากแมวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะลูกแมวไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมวัวได้ดีพอ จึงอาจทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นจึงควรใช้นมประเภทนมแพะ หรือนมสำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดที่ไม่มีแลคโตสจะเหมาะสมที่สุด

ในตอนหน้าก่อนที่จะไปดูในเรื่องของอาหารของแมวโต เราจะมาดูวิธีการเลี้ยงลูกแมวกำพร้า หรือวิธีเลี้ยงลูกแมวเล็กที่ไม่มีแม่แมวไว้ให้นมกันก่อนค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ




เรีียบเรียงข้อมูลจาก yimwhan.com,dogacat.com
ภาพประกอบจาก keptelenseg.hu/allati?page=165



โรคติดต่อในแมว ตอน โรคเชื้อรา


จริง ๆ แอดมินน่าจะเขียนโรค เชื้อราในแมว เป็นตอนแรกของเรื่อง สุขภาพแมว ด้วยซ้ำน่ะนะคะ เพราะก่อนหน้านี้ยัยกะทิก็เป็นโรคนี้มาอย่างหนักหน่วง จนเบ้าตากลายเป็นน้องแพนด้าน้อย ๆ อยู่หลายเดือน เพิ่งจะทุเลาเบาบางลงก็เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง แต่ก็ยังไม่หายดีซะทีเดียวฮ่ะ เพราะโรคนี้เมื่อเป็นแล้วหายยากมาก แต่เชื้อราในแมวเกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ แ้ละถ้าเป็นแล้วมีวิธีรักษาหรือเปล่า ที่สำคัญเชื้อราตัวนี้ติดต่อมาสู่คนได้หรือไม่ เรามาดูรายละเอียดกันค่ะ


โรคเชื้อราในแมว นั้น มีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดที่เรียกว่า dermatophyte ค่ะ ซึ่งไอ้เจ้าเชื้อราตัวนี้นอกจากจะเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดรอยโรคและอาการข้างเคียงในสัตว์เลี้ยงของเราแล้ว ยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วย โดยการติดต่ออาจจะเกิดได้จากการเล่นกันของแมวที่มีสปอร์ของเชื้อรานี้ที่อุ้งเท้า และมักพบได้ในแมวที่เลี้ยงระบบเปิดมากกว่าระบบปิด เนื่องจากแมวที่ไม่มีเจ้าของมักขาดการดูแลทำให้เป็นพาหะนำโรคหลายชนิด

อาการของโรคเชื้อราในแมวนั้น ที่พบบ่อยก็คือ แมวจะมีอาการคัน ขนร่วงเป็นหย่อม ๆ เป็นวง ๆ และวงนั้นก็มักจะขยายใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงเริ่มตกสะเก็ดดำ ผิวหนังอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถกระจายได้ทั้งตัว และลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แผลจากเชื้อราชนิดนี้อาจมีอาการมีน้ำเหลวเยิ้ม เป็นแผลลึก ซึ่งหากมีเชื้อแบคทีเรียเข้าร่วมด้วย ก็จะลุกลามกลายเป็นฝีเชื้อทำให้แมวเกิดอาการคันมากและกัดเกาบริเวณดังกล่าว หากอาการของโรคหนักมาก แผลหลุมก็จะเป็นโพรงใหญ่ในชั้นใต้กล้ามเนื้อและทะลุถึงกระดูก ที่สำคัญที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นก็คือ คนมีโอกาสติดเชื้อรานี้ได้ง่ายมากเนื่องจากการสัมผัส ดังนั้นผู้เลี้ยงแมวทั้งหลายจึงควรต้องระมัดระวังในการจับ แตะต้อง หรือสัมผัสแมวที่เป็นโรคนี้ให้มาก ๆ ด้วยการทำความสะอาดร่างกายหลังจับแมวที่เป็นโรคทุกครั้ง

สาเหตุของโรคนี้ ส่่วนใหญ่แล้วมักเิกิดจากความบอบช้ำทางผิวหนังค่ะ โดยเฉพาะแมวเปอเซียซึ่งมีขนยาวที่มัีกถูกแปรงขนและใช้แปรงร่วมกัน เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราอาจติดมากับแปรงได้ นอกจากนั้นการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน,การให้แมวอยู่ในที่อับชื้น,การอาบน้ำให้แมวบ่อยเกินไปจนทำให้เกิดภาวะผิวแห้ง ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้

สำหรับในคนนั้น หากร่างกายอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ การสัมผัสแมวที่มีเชื้อราอยู่ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้เช่นกันค่ะ อาการในคนก็จะมีลักษณะคล้ายแมว คือมีอาการคันตามผิวหนัง และเกิดวงแดง ๆ ตามจุดต่าง ๆ โดยขอบวงจะมีลักษณะแดงนูน และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษา

่การรักษาโรคเชื้อราในแมว นั้น ค่อนข้างจะกินเวลานานค่ะ สัตวแพทย์จะให้ยารักษาอาการของโรค เช่น ให้ยามาทา,แชมพูอาบน้ำฆ่าเชื้อรา ร่วมกับการกินยารักษาน่ะนะคะ



อ้างอิงข้อมูลจาก click2vet.com,vet4polyclinic.com