วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัตว์ที่มีอาการฮีทสโตรก


3 ตอนที่ผ่านมาแอดมินได้นำเอาข้อควรระวังสำหรับสัตว์เลี้ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตในกรณีที่เกิดภาวะ ฮีทสโตรก Heat stroke หรือสภาวะที่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิสะสมภายในร่างกายสูงเกินกว่าปกติมากเกินไป อันเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนระอุภายนอกหรือการได้รับยาบางอย่างน่ะนะคะ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะ ว่าในสภาพที่อากาศร้อนจัดของเมืองไทยแบบนี้ หากสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มมีอาการของฮีทสโตรก เราจะมี วิธีปฐมพยาบาล เบื้องต้นกันได้อย่างไรบ้าง



  1. หากสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการตัวร้อน ใบหูร้อน เส้นเลือดที่ใบหูขยาย เดินโซเซ หายใจลำบาก หัวใจเร็ว รัว หอบ หายใจเสียงดัง หรือหายใจทางปาก นั่นแสดงว่าสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มมีอาการฮีทสโตรกแล้วค่ะ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอันดับแรกก่อนพาไปหาสัตวแพทย์ ก็ควรที่จะย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่ที่เย็นกว่าเดิม เปิดพัดลมส่ายเบา ๆ เพื่อระบายอากาศและความร้อน ไม่ควรเปิดแอร์หรือนำตัวไปอยู่ในที่ที่เย็นเร็วเกินไปเพราะอาจทำให้สัตว์ช็อคได้
  2. นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำ บิดให้แห้งหมาด จากนั้นเช็ดตัวระบายความร้อนให้สัตว์เลี้ยง น้ำที่ใช้ชุบผ้าขนหนูควรเป็นน้ำที่อยู่ในอุณหภูมิปกติหรือเย็นกว่าปกติเพียงเล็กน้อย ค่อยๆ เช็ดบริเวณใบหูและขาหนีบ เพื่อระบายความร้อนให้
  3. นำน้ำใส่กระบอกสเปย์ แล้วสเปย์ละอองน้ำบริเวณที่สัตว์อยู่เพื่อลดความร้อน
  4. ป้อนน้ำเย็น หรือหาน้ำเย็นกว่าอุณหภูมิห้องเล็กน้อยให้ดื่ม โดยค่อย ๆ ให้ดื่มทีละน้อยเพื่อลดอุณหภูมิภายในร่างกาย อย่าป้อนน้ำเย็นจัดให้สัตว์เลี้ยงนะคะ เนื่องจากอาจทำให้สัตว์เลี้ยงช็อคได้
  5. หากอาการไม่ดีขึ้น หรือยังมีอาการซึม อุณหภูมิภายในร่างกายยังสูงอยู่ ควรรีบนำตัวส่งสัตวแพทย์โดยด่วนค่ะ เนื่องจากภาวะฮีทสโตรกนี้ร้ายแรงถึงขั้นทำให้สัตว์เสียชีวิตได้เลยทีเดียว


ดังนั้นในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ก็อย่าลืมดูแลและสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราเกิดภาวะฮีทสโตรกจนอาจทำให้เกิดความสูญเสียโดยไม่คาดคิดนั่นเองค่ะ




อ้างอิงข้อมูลจาก บทความของ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล

วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

การป้องกันการเกิดภาวะ Heat Stroke ในสัตว์เลี้ยง


ไดอารี่ของสองแสบเมื่อสองตอนที่แล้ว อิ่เจ๊เอารายละเอียดและการดูแลสัตว์เลี้ยงของเราไม่ให้เกิดภาวะ ฮีตสโตรก หรือ Heat Stroke อันเป็นภาวะที่สัตว์เลี้ยงของเราเกิดมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนจัดภายนอกหรืออันเนื่องมาจากการได้รับยาบางชนิดกันไปแล้วน่ะนะคะ วันนี้เราจะมาดูวิธีการป้องกันไม่ให้สมาชิกตัวจ้อยของเราเกิดภาวะฮีตสโตรกกันค่ะ เรามาดูวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้น้องหมาน้องแมวหรือสัตว์เลี้ยงของเราปลอดภัยจากภาวะฮีตสโตรกกันนะคะ


อันดับแรกเลยของการ ป้องกันภาวะฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง เราต้องเข้าใจกันก่อนค่ะ ว่าภาวะนี้ส่วนใหญ่แล้วสืบเนื่องมาจากสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดจนทำให้อุณหภูมิในร่างกายของสัตว์เลี้ยงของเราสูงเกินปกติตามไปด้วย ซึ่งภาวะเช่นนี้แน่นอนว่าอันตรายถึงชีวิตของสัตว์เลี้ยงของเราได้เลยทีเดียว ดังนั้น การป้องกันอันดับแรกที่ควรจะทำก็คือ การดูแลเรื่องตำแหน่งที่ตั้งกรงของสัตว์เลี้ยงค่ะ กรงของสัตว์เลี้ยงที่เราให้เค้าอยู่นั้น ต้องตั้งอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีแดดส่องและมีลมพัดผ่านพอสมควร หากเลี้ยงในระบบห้องปิด ควรติดตั้งแอร์หรือมีพัดลมส่ายเบา ๆ เพื่อให้อากาศได้หมุนเวียนถ่ายเทบ้าง (แต่ไม่ควรใช้วิธีเปิดพัดลมจ่อกรงนะคะ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเพิ่มอาการไข้หวัดให้สัตว์เลี้ยงของเราไปซะอีก


นอกจากนี้แล้ววันไหนที่มีอากาศร้อนกว่าปกติ ก็ควรย้ายกรงไปไว้ในทีีที่มีอากาศเย็นกว่าเดิมค่ะ ควรหากระเบื้องปูพื้นสักแผ่นไปวางแช่น้ำแล้วนำไปวางไว้บนพื้นให้เค้าได้เอาพุงไปนอนทับเย็น ๆ หรืออาจะเอาขวดใส่น้ำไปแช่เย็นให้เป็นน้ำแข็ง แล้วนำไปตั้งให้เค้าได้พิงระบายความร้อนก็ได้ บางบ้านหากสามารถหากระถางดินเผาหรือโอ่งดินเผาได้ ก็ให้นำเอาน้ำแข็งใส่ลงไปในในโอ่ง,อ่าง แล้วนำไปตั้งให้เค้านอนอิงก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เค้าเกิดอาการฮีตสโตรกได้


สำหรับสองแสบเอง ถ้าวันไหนอากาศอบอ้าวเกินทน อิ่เจ๊จะอาบน้ำให้สองแสบค่ะ หลายครั้งที่จะใช้วิธีบ้าน ๆ คือนำผ้ายืดเก่า ๆ ไปชุบน้ำ บิดให้แห้งหมาดแล้วปูบนพื้นให้สองแสบนอน ซึ่งจะเป็นการช่วยคลายร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย ในส่วนของตัวกรงของสองแสบเอง ตั้งอยู่ในที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่รอบด้านเป็นพื้นปูน ก็เลยมักจะมีอาการที่พื้นคลายความร้อนระอุ ๆ ขึ้นในมาภาคบ่ายเสมอ ดังนั้นอิ่เจ๊ก็เลยต้องใช้สายยางฉีดน้ำราดพื้นปูนใต้กรงและบริเวณรอบกรงสองแสบสัก 2-3 รอบด้วยน่ะนะคะ เพื่อให้อากาศร้อนที่สะสมบนพื้นปูนคลายตัวลง ทำให้อากาศเย็นไหลเวียนเข้ามาแทนที่ ซึ่งด้วยวิธีนี้ ก็สังเกตว่าสองแสบไม่หอบแฮ่กเหมือนเคยอ่ะ ถือว่าช่วยได้เยอะ..แต่ยังไงก็สงสานอยู่ดีแหละเนอะ ต้องคอยนั่งมองให้กำลังใจสองแสบก่อนกลับบ้านทีละนานๆ ทุกวันเลย >.<


ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มมีอาการฮีตสโตกกันค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ



เรื่องและภาพประกอบโดย Pacharawalai


วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

อาการของภาวะฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง


เมื่อวานนี้เราคุยกันไปบ้างแล้วน่ะนะคะ เกี่ยวกับการเกิดสภาวะ ฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง หรือสภาวะที่สัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากเจ้าของไม่ได้สังเกตและช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที เนืิ่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่บ้านเรามักจะมีอากาศที่ร้อนจัดทำให้สัตว์เลี้ยงหลายชนิดที่มีขนดกหนา หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง และมีการระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน เกิดอาการช็อคจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันค่ะ ว่าอาการที่บ่งบอกว่าสัตว์เลี้ยงของเรานั้น มีอาการแรกเริ่มของการเป็นฮีตสโตรกมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้รีบแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีน่ะนะคะ

โกกิเล่นเยอะไปหน่อยค่ะ เลยเจอกับฮีตสโตรกเล็กๆ เข้า ต้องหายใจทางปากเลย
อาการของสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในภาวะฮีตสโตรกนั้น ในระยะแรกๆ ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ก็คือ เมื่อเราจับตัวสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าในภาวะปกติค่ะ นอกจากนั้นก็จะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น ชีพจรเต้นอ่อนลง และจะมีเหงื่อออกมาก หากเราไม่ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยงของเราในช่วงนี้ อาการก็จะเริ่มมากขึ้น โดยจะไม่มีเหงื่อไหลออกมาเลย หายใจตื้นไม่เป็นจังหวะ ชีพจรเต้นเร็วมากและอ่อน สุดท้ายก็อาจถึงขั้นชักและเข้าสู่อาการโคม่าในที่สุด ซึ่งอาการเช่นนี้เราเรียกว่าเป็นการช็อคจากความร้อนที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองน่ะนะคะ

ดังนั้นหากจะแบ่งอาการของภาวะฮีตสโตรกให้ชัดเจนตามระดับความรุนแรงและอันตรายแล้ว เราจึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับด้วยกันค่ะ

นั่นคือ ระดับทีี่ 1 สัตว์จะมีอาการตัวร้อน ใบหูร้อน เดินโซเซ หายใจลำบาก หายใจเร็ว รัว หอบ หายใจเสียงดัง หายใจทางปาก เส้นเลือดที่ใบหูขยาย หากวัดอุณหภูมิดู อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ซึ่งควรรีบลดอุณหภูมิร่างกายให้สัตว์นะคะ เพราะหากอุณหภูมิร่างกายเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าอาการของสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มหนักแล้ว

ระดับที่ 2 ของภาวะฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงที่อันตรายกว่าระดับที่ 1 ก็คือ สัตว์เลี้ยงของเราจะมีอาการจมูกเปียก น้ำลายไหลยืด กระสับกระส่าย หรือหงอยไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ อย่างผิดปกติค่ะ หากปล่อยไว้โดยไม่รีบดูแลรักาา ก็จะเริ่มมีน้ำลายไหลเปียกแฉะไปทั้งจมูก ปาก คาง หน้าอก จากนั้นก็อาจถึงขึ้นช็อค ชักเกร็ง ซึ่งหากถึงขั้นนี้แล้ว ส่วนใหญ่คุณหมอมักแจ้งว่ามีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 90% เลยทีเดียว ซึ่งเราก็ควรที่จะคอยสังเกตอาการและพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงของเราให้ดี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้นะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาดูวิธีการรักษาอาการฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงและการป้องกันกันค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ


อ้างอิงข้อมูลจาก บทความของ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล

วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557

ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในสัตว์เลี้ยง


ช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ อากาศแถวเมืองอินดี้ (ที่วันไหนอยากจะเป็นจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างก็เป็น หรือนึกอยากจะเป็นภาคกลางตอนบนก็เป็น) แถวนี้ ร้อนตับแทบแตกฮ่ะ

ร้อนมากจนถึงขั้นที่ว่าตอนนี้ผิวสีไข่ไก่ของอิ่เจ๊ได้เกือบจะแปรสภาพไปเป็นสีของไข่เยี่ยวม้าเข้าไปทุกทีละ T^T ต่อให้ไวเทนนิ่งที่มีแสนยานุภาพมากมายขนาดเขย่ากระเป๋าตังค์อิ่เจ๊มากมายแค่ไหนก็ยังเอาไม่อยู่

ร้อนๆ แบบนี้อย่าว่าแต่คนที่อยากจะนอนแช่โอ่งน้ำมันทั้งวันเลยฮ่ะ แม้แต่สัตว์เลี้ยงของเราก็พลอยได้รับอานิสงฆ์ของความร้อนกันโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่่งไอ้เจ้าสองแสบที่ตึก ที่วันๆ เอาแต่นอนเกลือกกลิ้งผึ่งลมผึ่งพุงกันถ้วนหน้า แถมบางวันที่อากาศร้อนจัดแล้วอิ่เจ๊คึก..ชวนเล่นไม้ตกแมว ก็เล่นเอาสองแสบหอบแฮ่ก ๆ อ้าปากลิ้นห้อยระบายความร้อนภายในตัวกันถ้วนหน้ากัน


เพิ่งมารู้ทีหลังฮ่ะ ว่าอากาศร้อนๆ แบบนี้ชวนแมวเล่นแบบหนักหน่วงไม่ได้นะ เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิภายในตัวแมว(หรือสัตว์เลี้ยงของเราประเภทอื่น)สูงขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ภาวะฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าไอ้ภาวะที่ว่านี้ ไม่เป็นผลดีกับหมู หมา กา ไก่ ม้า แมว หรือแม้แต่ลิงที่เราเลี้ยงอยู่แน่ๆ

แล้วไอ้ภาวะฮีทสโตรกที่ว่านี่คืออะไร? ทำไมอิ่เจ๊ถึงบอกว่ามันอันตรายกับสัตว์เลี้ยงของเรานัก วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับภาวะที่ว่านี้ พร้อมทั้งวิธีป้องกันและบรรเทาอาการเบื้องต้นหากเกิดภาวะฉุกเฉินกับสัตว์เลี้ยงของเรากันค่ะ

ภาวะ ฮีทสโตรก ในสัตว์เลี้ยง ไฮเปอร์เทอเมีย Hyperthermia หรือ ฮีทสโตรก Heat Stroke ก็คือภาวะที่ สัตว์เลี้ยงของเรามีอุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น อันเนื่องมาจากร่างกายได้รับความร้อนภายนอกมากขึ้นหรือร่างกายเกิดความร้อนภายในมากเกินไปอันเนื่องมาจากการระบายความร้อนจากร่างกายน้อยลงนั่นเองฮ่ะ

สาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงของเราเกิดภาวะฮีตสโตรกนั้น มีได้หลายอย่างด้วยกันนะคะ หลักๆ แล้วก็คือ เกิดจากการที่สัตว์เลี้ยงของเราได้รับอากาศร้อนจัดภายนอกเป็นเวลานานๆ อย่างเช่นฤดูร้อนหน้าแหกของเมืองไทยเช่นนี้ หรือเกิดจากการที่เราให้สัตว์เลี้ยงของเราออกกำลังมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความชื้นในอากาศสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสัตว์เลี้ยงของเรามีขนหนา และอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศได้ไม่ดีพอ ก็เกิดภาวะฮีตสโตรกได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะที่สัตว์เลี้ยงของเราอ้วนเกินไป หรือเกิดจากการให้ยาบางชนิดเช่นยาระงับประสาทก็ยังได้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเราโดยที่เรารู้ไม่เท่าทันแล้ว โอกาสที่เกิดอัตรายถึงชีวิตก็มีได้สูงทีเดียว

แล้วอาการของโรคฮีตสโตรกนี้มีอะไรบ้างล่ะ ในตอนห้าของบล็อกยัยกะทิเราจะมาดูข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมรบกับอาการของโรคฮัตสโตรกในสัตว์เลี้ยงของเรากันนะคะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในตอนหน้าค่ะ


อ้างอิงข้อมูลจาก บทความของ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล