วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

อาการของภาวะฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง


เมื่อวานนี้เราคุยกันไปบ้างแล้วน่ะนะคะ เกี่ยวกับการเกิดสภาวะ ฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยง หรือสภาวะที่สัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากเจ้าของไม่ได้สังเกตและช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที เนืิ่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่บ้านเรามักจะมีอากาศที่ร้อนจัดทำให้สัตว์เลี้ยงหลายชนิดที่มีขนดกหนา หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง และมีการระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน เกิดอาการช็อคจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันค่ะ ว่าอาการที่บ่งบอกว่าสัตว์เลี้ยงของเรานั้น มีอาการแรกเริ่มของการเป็นฮีตสโตรกมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้รีบแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีน่ะนะคะ

โกกิเล่นเยอะไปหน่อยค่ะ เลยเจอกับฮีตสโตรกเล็กๆ เข้า ต้องหายใจทางปากเลย
อาการของสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในภาวะฮีตสโตรกนั้น ในระยะแรกๆ ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ก็คือ เมื่อเราจับตัวสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าในภาวะปกติค่ะ นอกจากนั้นก็จะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น ชีพจรเต้นอ่อนลง และจะมีเหงื่อออกมาก หากเราไม่ช่วยลดอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยงของเราในช่วงนี้ อาการก็จะเริ่มมากขึ้น โดยจะไม่มีเหงื่อไหลออกมาเลย หายใจตื้นไม่เป็นจังหวะ ชีพจรเต้นเร็วมากและอ่อน สุดท้ายก็อาจถึงขั้นชักและเข้าสู่อาการโคม่าในที่สุด ซึ่งอาการเช่นนี้เราเรียกว่าเป็นการช็อคจากความร้อนที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ นั่นเองน่ะนะคะ

ดังนั้นหากจะแบ่งอาการของภาวะฮีตสโตรกให้ชัดเจนตามระดับความรุนแรงและอันตรายแล้ว เราจึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับด้วยกันค่ะ

นั่นคือ ระดับทีี่ 1 สัตว์จะมีอาการตัวร้อน ใบหูร้อน เดินโซเซ หายใจลำบาก หายใจเร็ว รัว หอบ หายใจเสียงดัง หายใจทางปาก เส้นเลือดที่ใบหูขยาย หากวัดอุณหภูมิดู อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส ซึ่งควรรีบลดอุณหภูมิร่างกายให้สัตว์นะคะ เพราะหากอุณหภูมิร่างกายเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าอาการของสัตว์เลี้ยงของเราเริ่มหนักแล้ว

ระดับที่ 2 ของภาวะฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงที่อันตรายกว่าระดับที่ 1 ก็คือ สัตว์เลี้ยงของเราจะมีอาการจมูกเปียก น้ำลายไหลยืด กระสับกระส่าย หรือหงอยไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ อย่างผิดปกติค่ะ หากปล่อยไว้โดยไม่รีบดูแลรักาา ก็จะเริ่มมีน้ำลายไหลเปียกแฉะไปทั้งจมูก ปาก คาง หน้าอก จากนั้นก็อาจถึงขึ้นช็อค ชักเกร็ง ซึ่งหากถึงขั้นนี้แล้ว ส่วนใหญ่คุณหมอมักแจ้งว่ามีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 90% เลยทีเดียว ซึ่งเราก็ควรที่จะคอยสังเกตอาการและพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงของเราให้ดี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้นะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาดูวิธีการรักษาอาการฮีตสโตรกในสัตว์เลี้ยงและการป้องกันกันค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ


อ้างอิงข้อมูลจาก บทความของ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล