วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีการรักษาและป้องกันไข้หัดแมว

วิธีการรักษา หากเราพบว่าน้อง แมว เป็น โรคไข้หัด อันดับแรกหากเราพาน้องแมวของเราไปพบหมอ คุณหมอเขาก็จะทำการตรวจเลือดก่อนเลยฮ่ะ เมื่อตรวจแล้วก็พบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ประกอบกับการดูอาการที่แมวมีร่วมกับกลิ่นอุจจาระ เมื่อแน่ใจว่าเป็นไข้หัดแมว ก็จะทำการรักษาตามอาการที่น้องแมวของเรามี อย่างเช่น หากอาเจียนก็ให้ยาแก้อาเจียน หากขาดอาหารและน้ำก็ให้สารอาหารและน้ำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อไวรัสและควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้แล้วปัจจุบันยังมีการให้ยาในกลุ่ม Interferon แบบฉีดในขนาดสูง (และมีราคาสูงด้วย) เพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสร่วมกับการรักษาตามอาการได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งเจ้ายาตัวนี้ถ้าฉีดในแมวที่แสดงอาการแล้ว จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ประมาณ 10-20% แต่หากฉีดในแมวที่ได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ ก็จะเพิ่มอัตราการรอดได้ค่อนข้างสูงถึง 80-90% เลยทีเดียว



นอกจากการรักษาโดยการให้ยาแล้ว เจ้าของแมวก็ควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้มาก ๆ เพราะเชื้อไข้หัดแมวนี้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แมวป่วยได้หลายเดือนจนถึงเป็นปีเลยทีเดียว วิธีการที่ง่ายและประหยัดเงินสุด ก็คือให้หาน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ ไฮโปคลอไรท์ โดยนำมาผสมกับน้ำเปล่า 1:16-32 ส่วน จากนั้นนำไปเช็ดทำความสะอาดจุดต่าง ๆ ของบ้าน ทิ้งไว้ราว 10-30 นาที แล้วจึงใช้น้ำเปล่าเช็ดออกอีกครั้งน่ะนะคะ

ด้านบนเราดูในเรื่องของการรักษาไข้่หัดแมวกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าเราจะป้องกันน้องแมวของเราเป็นไข้หัดได้อย่างไรบ้างกันดีกว่าค่ะ

การป้องกันหรือการลดความเสี่ยงในการที่น้องแมวของเราจะเป็นไข้หัดนั้น ทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยากเลย นั่นก็คือ การทำวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้กับแมวทุกตัวที่เราเลี้ยง โดยเราสามารถทำได้ตั้งแต่น้องแมวอายุได้ 6-8 สัปดาห์เป็นต้นไป และทำการฉีดซ้ำทุก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าน้องแมวจะอายุครบ 16 สัปดาห์ และจะต้องทำการกระตุ้นวัคซีนทุก 1-3 ปี (เอ๊ะ..ยัยกะทิตอนรับตัวมาใหม่ ๆ จากพี่สาวแอดมินได้ทำรึเปล่าเนี่ย สงสัยต้องพาไปหาคุณหมอหน่อยละ) แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่การระบาดของโรคในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยนอกจากนี้ หากเจ้าของไปจับหรือสัมผัสแมวนอกบ้าน ไม่่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม เวลากลับมาบ้านก็ให้ล้างมือให้สะอาดก่อนจับแมวของตัวเองด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นพาหะนำโรคมาติดเจ้าลูกสมุนที่บ้าน และหากจะรับแมวมาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ก็ควรเลี้ยงแยกไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อสังเกตว่าแมวตัวใหม่ที่นำมาติดโรคหัดหรือโรคติดต่ออื่น ๆ มาด้วยรึเปล่าค่ะ

สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนทราบว่า ไข้่หัดแมว นั้น แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง เป็นแล้วมีอัตราการตายสูง แต่เราก็สามารถป้องกันน้องแมวของเราให้ห่างไกลจากโรคหัดได้ ด้วยการทำวัคซีนให้ครบ เพื่อป้องกันความสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นได้กับสมาชิกตัวน้อยในบ้านเราเองน่ะนะคะ



ภาพประกอบจาก 123rf.com/photo_14719032_veterinarian-examines-a-sick-cat-to-the-clinic.html