วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีการรักษาและป้องกันไข้หัดแมว

วิธีการรักษา หากเราพบว่าน้อง แมว เป็น โรคไข้หัด อันดับแรกหากเราพาน้องแมวของเราไปพบหมอ คุณหมอเขาก็จะทำการตรวจเลือดก่อนเลยฮ่ะ เมื่อตรวจแล้วก็พบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ประกอบกับการดูอาการที่แมวมีร่วมกับกลิ่นอุจจาระ เมื่อแน่ใจว่าเป็นไข้หัดแมว ก็จะทำการรักษาตามอาการที่น้องแมวของเรามี อย่างเช่น หากอาเจียนก็ให้ยาแก้อาเจียน หากขาดอาหารและน้ำก็ให้สารอาหารและน้ำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อไวรัสและควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้แล้วปัจจุบันยังมีการให้ยาในกลุ่ม Interferon แบบฉีดในขนาดสูง (และมีราคาสูงด้วย) เพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสร่วมกับการรักษาตามอาการได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งเจ้ายาตัวนี้ถ้าฉีดในแมวที่แสดงอาการแล้ว จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ประมาณ 10-20% แต่หากฉีดในแมวที่ได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ ก็จะเพิ่มอัตราการรอดได้ค่อนข้างสูงถึง 80-90% เลยทีเดียว



นอกจากการรักษาโดยการให้ยาแล้ว เจ้าของแมวก็ควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้มาก ๆ เพราะเชื้อไข้หัดแมวนี้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แมวป่วยได้หลายเดือนจนถึงเป็นปีเลยทีเดียว วิธีการที่ง่ายและประหยัดเงินสุด ก็คือให้หาน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ ไฮโปคลอไรท์ โดยนำมาผสมกับน้ำเปล่า 1:16-32 ส่วน จากนั้นนำไปเช็ดทำความสะอาดจุดต่าง ๆ ของบ้าน ทิ้งไว้ราว 10-30 นาที แล้วจึงใช้น้ำเปล่าเช็ดออกอีกครั้งน่ะนะคะ

ด้านบนเราดูในเรื่องของการรักษาไข้่หัดแมวกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าเราจะป้องกันน้องแมวของเราเป็นไข้หัดได้อย่างไรบ้างกันดีกว่าค่ะ

การป้องกันหรือการลดความเสี่ยงในการที่น้องแมวของเราจะเป็นไข้หัดนั้น ทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยากเลย นั่นก็คือ การทำวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้กับแมวทุกตัวที่เราเลี้ยง โดยเราสามารถทำได้ตั้งแต่น้องแมวอายุได้ 6-8 สัปดาห์เป็นต้นไป และทำการฉีดซ้ำทุก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าน้องแมวจะอายุครบ 16 สัปดาห์ และจะต้องทำการกระตุ้นวัคซีนทุก 1-3 ปี (เอ๊ะ..ยัยกะทิตอนรับตัวมาใหม่ ๆ จากพี่สาวแอดมินได้ทำรึเปล่าเนี่ย สงสัยต้องพาไปหาคุณหมอหน่อยละ) แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่การระบาดของโรคในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยนอกจากนี้ หากเจ้าของไปจับหรือสัมผัสแมวนอกบ้าน ไม่่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม เวลากลับมาบ้านก็ให้ล้างมือให้สะอาดก่อนจับแมวของตัวเองด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นพาหะนำโรคมาติดเจ้าลูกสมุนที่บ้าน และหากจะรับแมวมาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ก็ควรเลี้ยงแยกไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อสังเกตว่าแมวตัวใหม่ที่นำมาติดโรคหัดหรือโรคติดต่ออื่น ๆ มาด้วยรึเปล่าค่ะ

สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคนทราบว่า ไข้่หัดแมว นั้น แม้ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง เป็นแล้วมีอัตราการตายสูง แต่เราก็สามารถป้องกันน้องแมวของเราให้ห่างไกลจากโรคหัดได้ ด้วยการทำวัคซีนให้ครบ เพื่อป้องกันความสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นได้กับสมาชิกตัวน้อยในบ้านเราเองน่ะนะคะ



ภาพประกอบจาก 123rf.com/photo_14719032_veterinarian-examines-a-sick-cat-to-the-clinic.html





วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไข้หัดแมว ตอน สาเหตุและอาการของไข้หัดแมว


ช่วงนี้บรรดาแก๊งค์ แมว เหมียวของเพื่อนแอดมินที่เลี้ยงไ้ว้ถึง 14 ตัว มีปัญหาเป็น ไข้หัดแมว กันยกแก๊งค์เลยฮ่ะ >0< ถามว่าแอดมินรู้จักไข้หัดแมวมั้ย ก็พอรู้จักนิด ๆ หน่อย ๆ ล่ะ รู้..ว่ามันเป็นโรคติดต่อที่เป็นแล้วหายยาก รู้..ว่ามันเป็นโรคที่เป็นแล้วลดประชากรหมาแมวที่ไวที่สุดชนิดหนึ่ง และนอกจากมันจะทำให้หมาแมวของเราป่วยหนักแล้ว หัวใจของคนที่เป็นเจ้าของก็ทุกข์หนักไม่แพ้กันด้วย

เมื่อวานนี้ตอนทุ่มครึ่ง เพื่อนของแอดมินโทรศัพย์มาบอกว่า เจ้าแต้ม..แมวตัวเล็กครอกใหม่ของบ้านที่ป่วยเป็น ไข้หัด ได้ตายไปเป็นตัวแรกค่ะ ฟังแล้วใจหายนิ ก็รู้ล่ะ..ว่ามันรอดยาก แต่จนแล้วจนรอด เวลามีสัตว์เลี้ยงที่เราไม่คิดว่ามันเป็นเพียงแค่สัตว์ แต่เป็นสมาชิกในครอบครัวตัวหนึ่งต้องตาย ก็อดเศร้าไปกับเค้าด้วยไม่ได้เหมือนกัน ยิ่งรู้ว่าตัวอื่น ๆ อีัก 14 ตัว มีตัวที่อาการหนักอีก 3 และตัวอื่น ๆ ที่ทำท่าจะติดตามไปด้วยอีกทั้งแก๊งค์ แอดมินก็ยิ่งห่อเหี่ยวหัวใจทบเท่าทวีคูณ

อย่ากระนั้นเลยฮ่ะ เรามาดูกันหน่อยดีกว่า ว่าไอ้เจ้าไข้หัดที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงของแมวนี่ มันมีสาเหตุการเกิดขึ้นจากเชื้อโรคประเภทไหนกัน แล้วเป็นกันแล้วมีวิธีการรักษา หรือมีวิธีการป้องกันอย่างไรได้บ้าง เผื่อจะเอาไว้เป็นอุทาหรณ์และแนวทางรักษาหากน้องแมวของเราดันไปติดโรคนี้มาด้วย

โรคหัดแมว นั้น เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Feline Panleukopenia Virus (FPV) ฮ่ะ เจ้าไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสในกลุ่ม Parvovirus เป็นตัวการทำให้เกิดโรคในสัตว์ตระกูลแมว และสัตว์ที่อยู่ในตระกูลใกล้เคียง เช่น แรคคูน ตัวมิงค์ เป็นต้น

แล้วน้องแมวของเราจะติดโรคนี้มาได้อย่างไร โรคหัดแมวนี้สามารถติดได้หลายทางและติดได้อย่างง่ายดายจนน่าตกใจทีเดียวค่ะ เพราะมันสามารถติดได้จากสารคัดหลั่งสารพัดชนิดของน้องแมวเอง ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย หรืิอแม้แต่การแพร่เชื้อโรคจากพื้นดิน ภาชนะเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน คือติดได้จากสารพัดวิธีว่างั้นเถอะ ดังนั้น เมื่อเราพบว่ามีแมวของเราตัวหนึ่งตัวใดป่วยเป็นโรคนี้ ทางเลือกที่ควรทำที่สุด ก็คือการแยกข้าวของเครื่องใช้ของแมวป่วยออกจากแมวดี ทำความสะอาดบ้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม และหากเราไม่จับแมวป่วยมาแล้วก็ไม่ควรไปจับแมวที่ยังไม่ป่วยโดยไม่ได้ล้างมือหรือล้างตัวให้สะอาดก่อนอีกด้วยน่ะนะคะ


โรคไข้หัดแมวนั้น เมื่อเป็นแล้ว อัตราการตายจะสูงมากเลยทีเดียวค่ะ คือจะมีอัตราการตายได้ตั้งแต่ 50-90% และสามารถพบการเกิดโรคได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะัแมวที่อายุน้อย ๆ ที่สำคัญก็คือ โรคหัดแมวนั้นมักจะพบในแมวที่ไม่เคยทำวัคซีนป้องกันโรคมาก่อนหรือเคยทำวัคซีนแล้วแต่ทำไม่ครบถ้วนตามโปรแกรมวัคซีน ยิ่งถ้าแมวตัวที่เป็นไข้หัดอยู่ในสภาพแมวล้อมที่คับแคบ มีแมวอยู่กันหนาแน่น มีภาวะเครียด ก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการเกิดและระบาดของโรคมีมากขึ้น

อาการของโรคหัดแมว นั้น จะเริ่มต้นจากการที่น้องแมวของเรามีอาการซึมค่ะ นอกจากนั้นยังมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน อุจจาระมีกลิ่นเหม็นคาวผิดปกติ บางตัวอาจนอนตลอดเวลาด้วยความอ่อนเพลีย เดินไม่ตรง หัวตก มีขี้มูกขี้ตากรัง (บางครั้งตามีอาการอักเสบร่วมด้วย) แสดงอาการเจ็บเมื่อเราคลำท้อง เมื่อเป็นมาก อุณหภูมิในร่างกายจะต่ำ ช็อค หมดสติ และจะเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการรวม ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอาจทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้ภายใน 5 วัน แต่หากน้องแมวอยู่รอดได้เกิน 7 วัน ก็มักจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยลง

นอกจากน้องแมวของเราอาจติดไข้หัดได้จากหลายทางแล้ว หากแม่แมวที่ตั้งท้องป่วยหรือเป็นพาหะของไข้หัดแมว ลูกแมวก็จะติดเชื้อผ่านรกได้ ส่งผลให้เกิดอาการแท้ง หรือหากคลอดออกมา ลูกแมวก็จะอ่อนแอจนอาจตายได้ในที่สุด

ในตอนหน้าของบล็อกยัยกะทิ เราจะมาดูวิธีการรักษาและการป้องกันโรคไข้หัดแมวกันนะคะ




เรียบเรียงข้อมูลจาก guru.google.co.th/guru/thread?tid=5ef8f804bbd1a676
ภาพประกอบจาก bloggang.com/mainblog.php?id=sirijunya&month=12-10-2009&group=2&gblog=1